เปรียบเทียบการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2505 และการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2556 โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 16 พฤศจิกายน 2556 06:37 น.
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ในที่สุด คำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 56 ในคดีตีความคดีปราสาทพระวิหาร ก็ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกัมพูชาตามความคาดหมาย และชัดเจนยิ่งว่าคดีนี้ไทยแพ้กัมพูชา แม้จะไม่ใช่การแพ้หรือชนะที่สมบูรณ์แบบ แต่กัมพูชาก็ได้ถึงจะไม่มากเท่าที่ต้องการ แต่ก็ถือว่าได้เพิ่ม
ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นถึงจะเสียเพิ่มจากที่เคยขีดเส้นบริเวณรอบปราสาทไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2505 แต่ก็ถือว่ายังสามารถรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่เอาไว้ได้ เพราะคำตัดสินของศาลโลก ชัดเจนว่า กัมพูชาไม่สามารถอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. ที่บอกว่าเป็นของกัมพูชาทั้งหมด และไม่สามารถอ้างแผนที่ระวางดงรักภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 มาตีขลุมกำหนดเส้นเขตแดนตลอดแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา กว่า 790 กม. ซึ่งจะเชื่อมต่อทอดยาวถึงเขตแดนทางทะเลโดยอ้างว่าเป็นคำตัดสินของศาลเมื่อปี 2505 ได้อีกต่อไป แต่แผนที่ดังกล่าวใช้จำกัดเฉพาะอาณาบริเวณยอดเขาพระวิหารเท่านั้น
หลังจากนี้ ไทยจะเสียดินแดนมากหรือน้อยแค่ไหน หรือจะยันอยู่ในที่ตั้งเดิม ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาและการกำหนดท่าทีของฝ่ายไทยเองว่าจะเดินเข้าทางตีนกัมพูชาหรือไม่ ซึ่งท่าทีและทางเลือกนั้นมีอยู่หลายทาง
ยกตัวอย่างเช่น
หนึ่ง ยืนยันปฏิเสธอำนาจศาลโลก และไม่รับคำตัดสินของศาลเหมือนดังเช่นที่ภาคประชาชนเรียกร้อง โดยการประท้วงและขอสงวนสิทธิของประเทศไทยในเรื่องนี้ ดังเช่นที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเมื่อปี 2505
สอง เจรจาไปเรื่อยๆ และคงกำลังทหารไว้ในที่ตั้งเดิมต่อไปเพราะคำตัดสินของศาลไม่ได้มีเงื่อนไขเวลาอยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติตามภายในกรอบระยะเวลาเท่าใด อีกทั้งการลงรายละเอียดในพื้นที่จริงของขอบเขตอาณาบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกให้มาคร่าวๆ นั้นทำได้ยากในทางความเป็นจริง อาศัยเหตุผลนี้ยื้อไปเรื่อยๆ เหมือนดังเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกทำกัน
สาม ถือโอกาสนี้เจรจาปักปันเขตแดนกันให้ชัดเจนกันไป
หรือ สี่ ใช้กรณีมรดกโลกปราสาทพระวิหารมาเป็นข้อต่อรองและเจรจาพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่พิพาทร่วมกัน แต่สองประเด็นหลังอาจยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็นในเวลานี้
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ย้อนกลับมาถอดรหัสกันดูกันว่าผลจากคำตัดสินของศาลโลก ใครได้ ใครเสีย กี่มากน้อย
คดี ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนี้ กัมพูชาได้ยื่นคำร้องขอตีความต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 54 โดยมีคำร้องขอให้ศาลตีความคำพิพากษาฯ ที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อปี 2505 ซึ่งคราวนั้น ศาลโลกได้ตัดสินใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา 2.ไทยมีพันธะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลที่ไทยส่งไปประจำการอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือใน บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา และ 3.ไทยมีพันธะต้องคืนวัตถุโบราณต่างๆ แก่กัมพูชา ซึ่งภายหลังคำพิพากษา คณะรัฐมนตรีของไทย ได้ถอนกำลังทหารและตำรวจพร้อมกับขีดเส้นอาณาบริเวณกำหนดขอบเขตปราสาทพระ วิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 1 /4 ตร.กม.
ประเด็น สำคัญในคดีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความครั้งนี้ คือ อาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร เป็นไปตามเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่ซึ่งตัดมาจากแผนที่ระวางดงรัก มาตราส่วน 1 : 200,000) ขณะที่ข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย คือ ศาลโลกไม่มีอำนาจรับตีความเพราะทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อขัดแย้งเรื่องขอบเขตและ ความหมายของคำพิพากษาเดิม เนื่องจากฝ่ายไทยได้กำหนดพื้นที่รอบปราสาทแล้วและฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับตาม นั้นเป็นเวลา 50 ปีแล้ว สิ่งที่กัมพูชาเสนอเข้ามาในการยื่นคำขอต่อศาลโลกครั้งนี้เป็นการขยายการอ้าง สิทธิ์เหนืออาณาบริเวณอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร
ในการตัดสินคดีนี้ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก พร้อมองค์คณะตุลาการศาลโลก 17 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำตัดสินคดีที่กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลกในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง และสรุปคำตัดสินของศาล 2 ข้อ ดังนี้
“ THE COURT,
(1) Unanimously,
Finds that it has jurisdiction under Article 60 of the Statute to entertain the Request for interpretation of the 1962 Judgment presented by Cambodia, and that this Request is admissible;
(2) Unanimously,
Declares, by way of interpretation, that the Judgment of 15 June 1962 decided that Cambodia had sovereignty over the whole territory of the promontory of Preah Vihear, as defined in paragraph 98 of the present Judgment, and that, in consequence, Thailand was under an obligation to withdraw from that territory the Thai military or police forces, or other guards or keepers, that were stationed there.”
สรุปความโดยย่อ แปลเป็นไทยได้ว่า (1) ศาลมีอำนาจที่จะตีความคดีนี้ และศาลรับคำขอของกัมพูชาที่ให้ศาลตีความ (2) ผลการของตีความ ศาลเห็นว่า คำพิพากษาในวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ได้ตัดสินแล้วว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาเขตทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร (promontory of Preah Vihear) ตามที่ได้บัญญัติในย่อหน้าที่ 98 ของคำพิพากษานี้ และโดยผลของคำพิพากษานี้ ประเทศไทยมีภาระที่จะต้องถอนทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นใดที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่ออกจากอาณาเขตที่พวกเขาประจำการอยู่
ตามที่บัญญัติไว้ในย่อหน้าที่ 98 ของคำพิพากษา มีเนื้อหาความว่า การกำหนดขอบเขตของยอดเขาพระวิหารทางด้านทิศใต้ของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ให้เป็นไปตามลักษณะทางธรรมชาติ ทางด้านตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ยอดเขาได้ลาดลงตามหน้าผาชันลงสู่ที่ราบกัมพูชา คู่ความได้ตกลงกันแล้วตั้งแต่ปี 2505 ว่า หน้าผาชันนี้และพื้นที่ตีนเขาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ทางด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ลาดชันน้อยกว่าหน้าผาแต่ก็ได้ลาดลงสู่หุบเขาซึ่งแยกเขาพระวิหารออกจากเขาพนมตร๊อป (ภูมะเขือ) หุบเขาดังกล่าวลาดลงไปทางใต้สู่ที่ราบกัมพูชา ด้วยเหตุผลที่ให้ไว้แล้วในย่อหน้าที่ 92 ถึง 97 ศาลพิจารณาเห็นว่าภูมะเขือนี้อยู่นอกพื้นที่พิพาท และคำพิพากษาปี 2505 ไม่ได้เอ่ยถึงว่าภูมะเขืออยู่ในเขตไทยหรือกัมพูชา ดังนั้น ศาลเห็นว่า เขาพระวิหารไปสิ้นสุดที่ตีนภูมะเขือ
ทางด้านทิศเหนือ ขอบเขตของยอดเขาพระวิหารเป็นไปตามเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 จากจุดทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาท ซึ่งเส้นนั้นได้ตัดจากขอบหน้าผาไปยังจุดที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่จุดเริ่มต้นของหุบเขาที่ตีนภูมะเขือ
นั่นเป็นการบรรยายอาณาบริเวณที่เป็นยอดเขาพระวิหาร (หรือชะง่อนผา) ตามความเห็นของศาลโลก แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่ากว้างยาวเท่าไหร่ และไม่มีแผนที่ประกอบคำบรรยายนี้แต่อย่างใด
หากวิเคราะห์การตีความคำพิพากษาข้างต้น อาจบอกได้ว่า ทั้งไทยและกัมพูชามีทั้งได้และเสีย โดยประเด็นที่ศาลรับฟังกัมพูชา คือ
หนึ่ง ศาลมีอำนาจพิจารณาและมีเหตุต้องตีความ
สอง เส้นตามมติครม.ไทย ปี 2505 ไม่ใช่ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงตามความหมายของคำพิพากษาปี 2505
สาม แผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 ที่แนบคำฟ้องของกัมพูชานั้น ศาลรับฟังแต่ใช้เฉพาะกำหนดขอบเขตอาณาบริเวณยอดเขาพระวิหาร
ส่วนประเด็นที่ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย คือ
หนึ่ง แผนที่ 1:200000 ไม่มีความเกี่ยวข้องในฐานะเหตุผลของคำพิพากษาปี 2505 ในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่นอกบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารหรือในลักษณะทั่วไป
สอง พื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร และ ภูมะเขือ ไม่ใช่พื้นที่พิพาทในคดีเดิม
สาม บริเวณใกล้เคียงปราสาทคือพื้นที่ในคดีเดิมซึ่งมีขนาดเล็ก จำกัด และเห็นได้โดยชัดเจนตามลักษณะภูมิศาสตร์
สี่ ศาลไม่เคยตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนในปี 2505
ห้า ศาลยอมรับว่าการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ 1:200000 ลงบนภูมิประเทศจริงนั้นเป็นไปได้ยากหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้
นอกจากนั้น ศาลยังรับฟังข้อต่อสู้ทางข้อกฎหมายของไทย โดยตีความในประเด็นที่เคยได้พิพากษาไปแล้วเท่านั้น และการตีความไม่อาจจะนำคำสรุปต้นคำพิพากษา (headnote) มาประกอบการพิจารณาได้ และยึดถือขอบข่ายของบทปฏิบัติการในคดีเดิมคืออำนาจอธิปไตยเหนือยอดเขา (promontory) พระวิหารเท่านั้น
หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาของศาลโลก นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทย ได้อธิบายความเบื้องต้นในประเด็นสำคัญว่า ศาลตัดสินว่าศาลมีอำนาจรับพิจารณาตีความตามคำร้องของกัมพูชา และศาลได้พิจารณาว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารนั้นมีอาณาเขตอย่างไร แต่ไม่ได้มีแผนที่แนบ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารือในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-กัมพูชา หรือเจซี ต่อไป
ที่สำคัญ กัมพูชาไม่ได้ในสิ่งที่ร้องขอต่อศาล คือไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตร.กม. พื้นที่ภูมะเขือกัมพูชาไม่ได้ และศาลไม่ได้ระบุว่าแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 เป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินเมื่อปี 2505 คือไม่อาจผูกพันคู่กรณีได้ แต่ให้เอามาใช้จำกัดอยู่เฉพาะการกำหนดบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารซึ่งศาลใช้คำว่าเป็นพื้นที่แคบมากๆ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ยืนยันว่าคำตัดสินครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล เพราะศาลไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย
ทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวง ได้สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลฯ เพิ่มเติม ดังนี้
1.ศาลฯ รับตีความตามคำร้องของฝ่ายกัมพูชาเฉพาะในประเด็นที่ศาลฯ เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจแตกต่างกัน แต่ศาลฯ รับตีความเฉพาะภายในขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505
2.ศาลฯ ไม่รับพิจารณาประเด็นเส้นเขตแดน หากแต่พิจารณาเฉพาะประเด็นอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารและขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท ซึ่งคำตัดสินของศาลฯ เป็นไปตามแนวทางการสู้คดีของฝ่ายไทย โดยศาลฯ ไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และศาลฯ ไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันไทยภายใต้คดีเดิมในฐานะเส้นเขตแดนไทย - กัมพูชา
3.ศาลฯ รับพิจารณาเกี่ยวกับบริเวณใกล้เคียงปราสาทซึ่งศาลฯ เห็นว่าเป็นบริเวณพื้นที่ขนาดเล็ก และศาลฯ ได้อธิบายขอบเขตของบริเวณดังกล่าวในทางสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเขาพระวิหาร ไม่รวมถึงภูมะเขือ โดยในขั้นตอนต่อไป ไทยและกัมพูชาจะต้องหารือกันในรายละเอียดของขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทต่อไป
และ 4.ศาลฯ แนะนำให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก
อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงเรื่องนี้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 13 พ.ย. 2556 นั้น นายวีรชัย พลาศรัย ยอมรับว่า ไทยเสียดินแดนมากกว่าที่เคยขีดเส้นอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 แต่จะมากน้อยเท่าใดยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ และได้ติติงนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายว่า ไทยอาจเสียพื้นที่ระหว่าง 0.3 - 2 ตร.กม. ว่าจะทำให้การเจรจาของไทยในอนาคตยากขึ้น ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ทีมกฎหมายของฝ่ายไทยจะไม่ระบุความชัดเจนในพื้นที่ที่ไทยอาจจะเสียดินแดน ซึ่งจะผูกมัดประเทศไทย และกัมพูชาจะนำไปเป็นข้ออ้างได้ในภายหลัง
เพราะประเด็นเดียวกันนี้ แม้แต่นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ที่ถือไพ่เหนือกว่าไทยก็ยังไม่พูดเช่นกันโดยบอกว่าจะต้องเอาแผนที่มาดูและไทยกับกัมพูชาจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน โดยผ่านกลไกทวิภาคีอย่างน้อยสองกลไกหลักคือ คณะกรรมาธิการร่วมและคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วม
ขณะที่สมเด็จฯ ฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ที่ใช้ประเด็นปราสาทพระวิหารหาเสียงมาตั้งแต่การนำคดีฟ้องศาลโลก ก็ได้ทีออกมา แสดงความพึงพอใจในคำตัดสิน และเรียกร้องให้ไทยต้องถอนทหารออกไปจากอาณาบริเวณชะง่อนผาปราสาทพระวิหารตามที่ศาลโลกตัดสิน และโต้ว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 ไม่ได้ถูกทำลายลงไปอย่างที่ทูตวีรชัย กล่าวอ้าง อีกทั้งยังทวงสัญญาในพันธกรณีที่ได้ตกลงไว้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ไม่ว่าศาลโลกจะพิจารณาออกมาอย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศจะปฏิบัติตามคำตัดสิน เป็นการตีกินทางการเมืองและเกมระหว่างประเทศเหนือชั้นผู้นำของไทย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทีมกฎหมายฝ่ายไทย พยายามพูดจาภาษาดอกไม้ให้ฟังดูดี สื่อต่างประเทศรวมถึงเว็บไซต์ต่างรายงานผลคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. 56 ไปในทำนองเดียวกันว่า ศาลโลกสนับสนุนข้ออ้างของกัมพูชาเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร หรืออีกนัยหนึ่งคือกัมพูชาเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้คดีครั้งนี้ โดยสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานคำกล่าวของผู้พิพากษาปีเตอร์ ทอมกา ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาปี 2505 ว่า "กัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นชะง่อนผาทั้งหมดของพระวิหาร" และผลจากการนี้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต้องถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือคนเฝ้ายามออกจากอาณาเขตดังกล่าว
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคลื่อนไหวและเกาะติดเรื่องนี้ได้ เปรียบเทียบการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2505 และการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2556 ว่าเป็น “ตลกร้าย!? 51 ปีที่แล้ว พ.ศ.2505 ไทยล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหาร 150 ไร่ จากคำพิพากษาของศาลโลก ผู้นำไทยต้องแถลงถึงความเสียใจด้วยน้ำตา ด้วยความคั่งแค้น และประท้วงคำพิพากษา ตั้งข้อสงวนเอาไว้ที่องค์การสหประชาชาติ, 51 ปี ผ่านไป ศาลโลกตีความคำพิพากษาเดิมให้ไทยถอยอาจถึง 625-937.5 ไร่ (12.5 เท่าของสนามหลวง) รัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศ กลับบอกว่า 1.เราพอใจ 2. แผ่นดินเล็กนิดเดียว เพราะศาลโลกบอกมันเล็กนิดเดียว”
“แผ่นดินเล็กๆ” ทหารไทยจะต้องถอยไปเท่าไหร่ ? นายปานเทพ บอกว่า ข้อความวรรค 98 นิยามของชะง่อนผาที่ทหารไทยต้องถอยออกไป ประมาณการพื้นที่คร่าวๆ ที่ไทยต้องถอยรวมพื้นที่ 1-1.5 ตารางกิโลเมตร ถ้า 1 ตารางกิโลเมตร = 625 ไร่ ถ้า 1.5 ตารางกิโลเมตร = 937.5 ไร่ ถ้านึกไม่ออกว่าใหญ่แค่ไหน มีผู้แนะนำให้เทียบกับ “สนามหลวง” มีขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวา ถ้าพื้นที่ที่ทหารไทยต้องถอยไป 1.5 ตารางกิโลเมตร = 937.5 ไร่ = 12.5 เท่าของสนามหลวง นี่คือแผ่นดินเล็กๆ ที่ศาลโลกกล่าวถึง !!!
นอกจากนั้น นายปานเทพ ยังได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นที่นายวีรชัย และรัฐบาลไทย พูดไม่หมด 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะไม่ได้ใช้แผนที่ 1: 2 แสนทั้งระวาง แต่กัมพูชาได้พื้นที่ตามแผนที่ 1:2 แสน “เฉพาะในบริเวณเขาพระวิหาร” พูดง่ายๆ คือ แม้กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ทั้งหมด 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ไทยต้องเสียพื้นที่บางส่วนใน 4.6 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเติมจากปี 2505 ให้กับกัมพูชา
2.กัมพูชาไม่ได้ภูมะเขือ เพราะภูมะเขือ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตคดีปราสาทพระวิหาร แต่โชคร้ายคือทหารไทยต้องถอยจากยอดเขาพระวิหารลุกลามไปถึงตีนเขาของภูมะเขือ แต่การที่ศาลใช้แผนที่มาตราส่วน 1:2 แสนในบริเวณเขาพระวิหารได้ ในทางพฤตินัยกัมพูชาจึงอาจหยิบยกประเด็นนี้ในความชอบธรรมของแผนที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้เข้ายึดยอดภูมะเขือไปเรียบร้อยแล้ว
3.ศาลเน้นเรื่องพื้นที่เล็กๆ เล็กหรือไม่เป็นเรื่องความรู้สึกของศาลต่อขนาดดินแดนที่ไม่ใช่ประเทศตัวเอง นายวีรชัย ตลอดจนรัฐบาลอ้างตามนั้นบ่อยๆ เพื่อปลอบใจให้คนไทยรู้สึกดี (คล้ายๆ กับว่าแผ่นดินนิดเดียวไม่ใช่เรื่องใหญ่) แต่แท้ที่จริงคือ เราต้องถอยไปไกลกว่าเดิม เพียงพอที่จะให้กัมพูชาได้ถนนทางขึ้น ได้หมู่บ้าน ได้วัดแก้ว ได้ตลาด (อาจลุกลามจนถึงผามออีแดง) จนสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารมรดกโลกอย่างสมบูรณ์ได้ฝ่ายเดียว โดยที่ทหารไทยต้องถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าว
4.ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปเจรจากันเองในรายละเอียดในการ “ทำหลักเขตแดน” แทนจากสิ่งเดิมที่ไทยยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำโดยไม่เคยต้องทำหลักเขตแดนมานับร้อยปี ซึ่งหมายถึงแผนที่ 1:2 แสนจะถูกนำมาใช้ได้ในบริเวณเขาพระวิหาร แม้จะสามารถยื้อได้ แต่ศาลได้เน้นเรื่องความสุจริตใจ นั่นหมายถึงหากเราเริ่มเจรจาทำหลักเขตแดนก็ต้องดำเนินไปตามแผนที่ 1: 2 แสน ในบริเวณเขาพระวิหาร
แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ รัฐสภาไทยได้สมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ เร่งรัด แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ดักไว้ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 56 ถ้าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใกล้สำเร็จนี้ ขั้นตอนระหว่างการเจรจา ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนได้ต้องรับรู้อีกต่อไป
5.เรื่องมรดกโลกที่ศาลโลกแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันดูแล เพราะความหมายคือ ให้ไทยยอมรับทะเบียนปราสาทพระวิหารในนามกัมพูชาที่ขึ้นฝ่ายเดียว โดยไทยต้องยอมเป็น 1 ใน 7 ชาติที่เข้าร่วมบริหารจัดการในสินทรัพย์ภายใต้ทะเบียนของชาติกัมพูชาไม่ใช่ของประเทศไทย
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เน้นย้ำข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า 1.รัฐบาลอย่าเพิ่งรีบปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก 2.ควรตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างละเอียด โดยจะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปร่วมด้วย 3.ในอนาคตถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลจะต้องดำเนินการเอาข้อตกลงเกี่ยวกับกัมพูชาในประเด็นปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา และ 4.หากมีกรณีใดที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามศาลโลกหรือไม่ ควรใช้กลไกของรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำประชามติให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ได้ โดยรัฐบาลจะต้องไม่ตัดสินใจเพียงลำพัง
ท่ามกลางความพลุ่งพล่านร้อนแรงด้วยกระแสเสียดินแดน เสียน้อย - เสียมาก และหลายฝ่ายต่างพากันขีดเส้นดินแดนบนแผนที่คาดเดาขนาดของความสูญเสียไปต่างๆ นาๆ ดูเหมือนว่า อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อ 50 ปีก่อน อย่างเช่น ดร.สมปอง สุจริตกุล จะมีสติและให้ข้อคิดต่อรัฐบาลและสังคมไทยหลังศาลโลกมีคำพิพากษาคดีตีความฯ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปหมาดๆ
ดร.สมปอง ชี้ว่า ศาลโลกไม่มีหน้าที่แบ่งแผ่นดินของประเทศใดให้อีกประเทศหนึ่ง นอกจากเราจะยกให้เขาเอง โดยการใช้ศาลเป็นเครื่องมือ แปลเอาเองว่าศาลเขาให้ยกให้ ทั้งที่ศาลเขาไม่ได้บอกเลย ขอบเขตที่ศาลตีความ ตนไม่เคยถือว่าไทยเสียดินแดน นอกจากเราจะโมเมหรือใจดีหาเรื่องจะยกที่ดินให้เขมรแล้วก็ไปโทษว่าเป็นความผิดของศาล
“จะให้ศาลโลกแปลคำตีความคดีปราสาทพระวิหารกี่ครั้ง ศาลก็ยังไม่กล้าบอกว่าเขตแดนอยู่ตรงไหน เขาเพียงบอกว่าพื้นที่ปราสาทเขาวิหารเล็กนิดเดียว แล้วเราใจดีใจบุญตีความไปไกลถึงพื้นที่ 4.6 ตร.กม. กระทรวงการต่างประเทศ ต้องพยายามเรียนรู้กฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญา สนธิสัญญาหรือคำพิพากษาก็มีแล้ว ทำไมต้องไปอ่านให้เราเสียเปรียบในเมื่อมันไม่ใช่อย่างนั้น เราเถียงศาลมาตลอดอยู่แล้วว่าตัดสินในคดีเดิม ดินแดนเป็นปวงชนชาวไทยบรรพบุรุษรักษามาไม่ใช่ของรัฐบาล ช่วยกันรักษาหน่อย”
ส่วนที่ศาลใช้คำว่าบริเวณใกล้เคียง ศาลยังไม่ได้บอกเลยว่าใกล้เคียงในเขตใคร เพราะศาลไม่ได้พูดถึงเรื่องเขตแดน แม้แต่การออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ให้ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังทหารก่อนหน้านี้ ตนมองว่าเป็นเพียงหน้าที่เพื่อไม่ให้ทั้งสองประเทศปะทะกัน แต่ไม่ใช่หน้าที่หลัก หน้าที่หลักเป็นของคณะมนตรีความมั่นคง ท่าทีของไทยที่ควรทำต่อจากนี้ ไทยควรรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปยกดินแดนให้เขา เมื่อไรเราจะศึกษากฎหมายให้รู้แจ้งเสียที จะได้ไม่ต้องทุกข์ร้อนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไปเจรจากับเขาได้เต็มภาคภูมิเสียที
ส่วนประเด็นกัมพูชาสร้างถนนรุกล้ำฝั่งไทยบริเวณบ้านโกมุย ปัญหาคือ ทำไมตอนที่เขมรสร้างเราถึงไม่มีปาก กรณีนี้ถือว่าเป็นการสั่งสอน หากเราไม่รู้เส้นเขตแดนของเรามันก็ต้องเสียดินแดนให้เขาครอบครองปรปักษ์อย่างไม่มีกำหนด ดังนั้น เราควรสอนให้เจ้าหน้าที่ของเรารู้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ดี ตนไม่ได้เป็นห่วงว่าเราจะเสียดินแดน เพราะไม่เชื่อว่าทหารไทยจะยอมยกดินแดนให้เขมร
เช่นเดียวกันกับรศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดี เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ประจำปี 2550 ที่ตั้งคำถามหลังการตัดสินของศาลโลกว่า แล้วประเทศไทยไปยอมรับฟังศาลโลกทำไม รัฐบาลไทยไม่ควรไปยอมรับอำนาจศาลโลก ควรจะยืนยันตามที่ประเทศไทยเคยทำไว้ตามมติครม. 2505 แต่ก็ไม่ทำ แต่พอไปรับอำนาจศาลโลก เมื่อศาลตัดสินออกมาก็ขอแนะนำว่า รัฐบาลไทยและทหารไทยต้องยืนยันว่าจะไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แล้วต้องเคลียร์เรื่องพื้นที่อธิปไตยของประเทศไทยให้ชัดเจนก่อนที่จะพูดถึงเรื่องพื้นที่มรดกโลกอย่าเอามาปะปนกัน
หากไม่ถือทิฐิดื้อดึงหรือมีผลประโยชน์มหาศาลของญาติมิตรวงศ์วานว่านเครือและพวกพ้องอยู่เบื้องหลังอย่างที่สังคมสงสัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรสดับรับฟังข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เกี่ยวกับผลของคำพิพากษาของศาลโลกว่า รัฐบาลต้องไม่ดำเนินการใดๆ อันมีผลต่อการยอมรับหรือปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกโดยเฉพาะกรณีที่ทำให้ไทยสูญเสียดินแดน และให้ตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนภาครัฐ เอกชน นักวิชาการด้านต่างๆ ตัวแทนภาคประชาชน เพื่อศึกษาคำพิพากษาอย่างละเอียด วิเคราะห์ผลดีผลเสีย ในการยอมรับหรือปฏิเสธคำพิพากษาศาลโลก และนำข้อตกลงอันเกี่ยวกับพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เขตแดนไทย-กัมพูชาเข้าสู่การตรวจสอบของรัฐสภา รวมทั้งยุติการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และให้ถอนร่างดังกล่าว เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนการดำเนินการทางทหารให้ตรึงกำลังรักษาเขตแดนไว้ตามเดิม
แต่นายกรัฐมนตรีของไทย กำลังคิดอะไร และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะทำตามคำสัญญาที่สมเด็จฯฮุนเซนทวงถามหรือไม่? ที่สำคัญผู้นำรัฐบาลไทยที่แท้จริงซึ่งอยู่เร่ร่อนอยู่นอกประเทศ จะฉวยใช้สถานการณ์นี้งุบงิบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกัมพูชา ดังแผนที่วางเอาไว้โดยการแก้ไขรธน.มาตรา 190 ไว้รอล่วงหน้าแล้วหรือไม่ สังคมไทยห้ามกระพริบตาเด็ดขาด!
14 ครั้ง 14 ความอัปยศ ประวัติศาสตร์การสูญเสียแผ่นดินไทย
"ที่เรายืนหยัดทุกวันนี้ ในฐานะเกิดในแผ่นดินไทย เราไม่ได้ต้องการแย่งชิงอำนาจจากใคร แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายรักษาแผ่นดิน ไม่น่าเชื่อแผ่นดินสยามที่เคยใหญ่ที่สุด เสียไปเพราะความจำเป็นที่ต้องเผชิญกับประเทศมหาอำนาจ จนแหลือแค่นี้แล้วทำไมเราจะปกป้องไม่ได้ในเมื่อไม่มีประเทศมหาอำนาจมาคุกคามแล้ว" นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปราศรัยบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2554 พร้อมกับนำภาพการสูญเสียดินแดนในประวัติศาสตร์ชาติไทย 14 ครั้ง มาให้ดูว่าประเทศไทยเคยใหญ่แค่ไหน ก่อนที่เหลือแผ่นดินคล้ายขวานทองในปัจจุบัน
14 ครั้งที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ไล่เรียงลำดับ ดังนี้
ครั้งที่ 1 เกาะหมาก (ปีนัง) เสียให้กับประเทศอังกฤษ เมื่อ 11 ส.ค. 2329 พื้นที่ 375 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดจากพระยาไทรบุรี ให้อังกฤษเช่าเกาะหมากเพื่อหวังจะขอให้อังกฤษคุ้มครองเกาะหมากจากกองทัพ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพมาจัดระเบียบหัวเมืองปักษ์ใต้ ในที่สุดอังกฤษก็ยึดเอาไป
ครั้งที่ 2 มะริด ทวาย ตะนาวศรี เสียให้กับพม่า เมื่อ 16 ม.ค. 2336 พื้นที่ 55,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิม 3 เมืองนี้เป็นของไทย ครั้งสมัยสุโขทัย มังสัจจา เจ้าเมืองทวายเป็นไส้ศึกให้พม่า รัชกาลที่ 1 ไม่สามารถตีคืนจากพม่าได้ ประกอบกับชาวเมืองทวายไม่พอใจกองทัพไทยที่เข้ายึดครองจึงตกเป็นของพม่าไป
ครั้งที่ 3 บันทายมาศ(ฮาเตียน) เสียให้กับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2336 ในสมัยรัชกาลที่ 2
ครั้งที่ 4 แสนหวี เมืองพง เชียงตุง เสียให้กับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2368 พื้นที่ 62,000 ตร.กม.ในสมัย รัชกาลที่ 3 แต่เดิมไทยได้ดินแดนนี้มาในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระเจ้ากาวิละ ยกทัพไปตีมาขึ้นอยู่กับไทยได้ 20 ปี เนื่องจากเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลประกอบกับเกิดกบฏเจ้าอนุเวียงจันทร์และเกิดกบฏทางหัวเมืองปักษ์ใต้ (กลันตัน ไทรบุรี) ไทยจึงห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่มีกำลังจะยึดครอง หลังจากนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เชียงตุงก็เป็นของอังกฤษโดยสิ้นเชิง
ครั้งที่ 5 รัฐเปรัค ให้กับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการสูญเสียที่ทำร้ายจิตใจ คนไทยทั้งชาติ เพราะเป็นการสูญที่ห่างจากครั้งที่ 4 ไม่ถึง 1 ปี
ครั้งที่ 6 สิบสองปันนา เสียให้กับจีนเมื่อ 1 พ.ค. 2397 พื้นที่ 90,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 4
ครั้งที่ 7 เขมรและเกาะ 6 เกาะ เสียให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2410 พื้นที่ 124,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 4
ครั้งที่ 8 สิบสองจุไทย (เมืองไล เมืองเชียงค้อ) เสียให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัย รัชกาลที่ 5
ครั้งที่ 9 ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน เสียให้กับประเทศอังกฤษในสมัย รัชกาลที่ 5 ในห้วงปี พ.ศ. 2433 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและทรัพยากร อันอุดมด้วยดินแดนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์
ครั้งที่ 10 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว) เสียให้กับฝรั่งเศส เมื่อ 3 ต.ค. 2436 พื้นที่ 143,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามสัญญาไทยกับฝรั่งเศส เท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสเรียกเงินจากไทย 1 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่ต้องรบกับไทย เสียค่าประกันว่าไทยต้องปฏิบัติตามสัญญาอีก 3 ล้านบาท และฝรั่งเศสได้ส่งทหารมายึดเมืองจันทบุรีและตราด ไว้ถึง 15 ปี นับว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดของไทยถึงขนาดที่เจ้านายฝ่ายในต้องขายเครื่องแต่งกายเพื่อนำเงินมาถวายรัชกาลที่ 5 เป็นค่าปรับ และรัชกาลที่ 5 ต้องนำถุงแดง (เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้
ครั้งที่ 11 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ดินแดนในทิศตะวันออกของน่าน, จำปาศักดิ์, มโนไพร) เสียให้กับฝรั่งเศสเมื่อ 12 ก.พ. 2446 พื้นที่ 25,500 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5โดยไทยทำสัญญากับฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีให้ไทย ทางฝรั่งเศสถอนไปแต่จันทบุรีแล้วไปยึดเมืองตราดแทนอีก 5 ปี เมื่อฝรั่งเศสได้หลวงพระบางยังรุกล้ำบ้านนาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย และยังได้เอาศิลาจารึกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ไปด้วย
ครั้งที่ 12 มณฑลบูรพา(พระตะบอง, เสียมราฐ, ศรีโสภณ) เสียให้กับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2449 พื้นที่ 51,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ทำสัญญากับฝรังเศส เพื่อแลกกับตราด, เกาะกง, ด่านซ้าย ตลอดจนอำนาจศาลไทยที่จะบังคับต่อคนในบังคับของฝรั่งเศสในประเทศไทย เพราะขณะนั้นมีคนจีนญวนไปพึ่งฝรั่งเศสกันมากเพื่อสิทธิการค้าขาย ฝรั่งเศสก็เพียงแต่ถอนทหารออกจากตราดเมื่อ 6 ก.ค. 2450 กับด่านซ้าย คงเหลือแต่เกาะกงไม่คืนให้ไทย
ครั้งที่ 13 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสียหัวเมืองมลายู (รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี) เมื่อ พ.ศ. 2451 ให้กับอังกฤษ จำนวนพื้นที่ 80,000 ตร.กม. เพื่อแลกกับอังกฤษยกเลิกสิทธิภาพนอกอาณาเขต และให้ไทยกู้เงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ปัจจุบันเป็นของมาเลเซีย
ครั้งที่ 14 เขาพระวิหาร เสียให้กับเขมรเมื่อ 15 มิ.ย. 2505 พื้นที่ 2 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร
รวมพื้นที่ที่เสียไป 787,877 ตร.กม. จากพื้นที่ 1,294,992 ตร.กม.ในอดีต ทำให้ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่ 512,115 ตร.กม.
และครั้งล่าสุดหลังคำตัดสินคดีตีความคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา ไม่แน่ว่า ครั้งที่ 15 นี้ ประเทศไทยจะเสียดินแดนบนด้ามขวานนี้ไปอีกกี่มากน้อย รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จะปกป้องผืนแผ่นดินดังปากว่าหรือจะอวยกับกัมพูชา รีบยกแผ่นดินให้โดยไม่รีรอไม่ฟังเสียงของภาคประชาชนที่กำลังชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ในอันที่จะสูญเสียดินแดนคราวนี้
สิบสองปันนา แผนที่ 在 แนะนำที่เที่ยวสิบสองปันนา - YouTube 的推薦與評價
สิบสองปันนา ตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวของประเทศจีนที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด ... ... <看更多>
สิบสองปันนา แผนที่ 在 เที่ยวสิบสองปันนา By ไปไหนดี ทราเวล 的推薦與評價
กลับมาแล้ว#ท่องเที่ยว สิบสองปันนา วัฒนธรรมไทลื้อ โฉมใหม่ เริ่มต้น 9900 บาท #ไม่มีลงร้านช๊อปเที่ยวอย่างเดียวสุดคุ้ม #แถมสวนสนุกระดับโลก Wanda ... ... <看更多>
สิบสองปันนา แผนที่ 在 พาเที่ยวสิบสองปันนา บนเส้นทาง R3A - YouTube 的推薦與評價
จากเชียงราย - สิบสองปันนา บนเส้นทาง R3A http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=303 การแสดงพาราณสี อีกหนึ่งโชว์ที่อลังการ ... ... <看更多>