ถ้าเราอยู่ในซีกโลกใต้เราจะหาทิศใต้ได้อย่างไร?
หากเราเลือกดาวโดยสุ่มสักดวงบนท้องฟ้า และเดินตามทิศทางของดาวดวงนั้นไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าทิศทางที่เราเดินก็จะเปลี่ยนไป เนื่องจากโลกมีการหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวมีการขึ้นและตกไปรอบๆ โลกของเรา ทำให้เราไม่สามารถใช้ดาวในการนำทางได้
อย่างไรก็ตาม มีกรณียกเว้นอยู่กรณีหนึ่ง นั่นก็คือหากเราเลือกดาวที่อยู่บริเวณที่ตรงกับแกนโลกชี้ไปพอดี ดาวดวงนั้นจะหมุนวนไปรอบๆ จุดเดิม ทำให้ไม่มีการเคลื่อนที่ไปไหน เช่นเดียวกับหากเราทำการหมุนไปรอบๆ วิสัยทัศน์รอบๆ ตัวเราทุกทิศทางจะมีการหมุนไปรอบๆ ยกเว้นแต่เพียงจุดเหนือศีรษะและใต้เท้าของเราที่หมุนอยู่กับที่
สำหรับคนไทยที่อยู่ในซีกโลกเหนือ เราน่าจะคุ้นเคยกับ "ดาวเหนือ" ที่สามารถนำไปใช้บอกทิศทางกันได้ เราสามารถหาทิศเหนือได้โดยใช้ดาวสองดวง ตรงปลายกระบวยของกลุ่มดาวหมีใหญ่ (หรือกลุ่มดาวจระเข้ของไทย) ที่จะชี้ไปยัง "ดาวเหนือ" (polaris) พอดี
แท้จริงแล้วดาวเหนือนั้นไม่ได้มีความพิเศษแต่อย่างใด และเป็นดาวที่มีความสว่างค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ดาวที่สว่างที่สุด แค่เป็นเรื่องบังเอิญที่ "ขั้วเหนือ" ของท้องฟ้าเราชี้ไปยังบริเวณใกล้ๆ ดาวดวงนี้พอดี (สามารถอ่านเกี่ยวกับการหาดาวเหนือได้ที่ ลิงก์ด้านล่าง [1])
แต่หากเราเดินทางไปใต้เส้นศูนย์สูตรของโลกแล้ว เราจะพบว่าดาวเหนือและขั้วเหนือของท้องฟ้านั้นไม่เคยโผล่ขึ้นมาพ้นจากขอบฟ้าเลย นั่นหมายความว่าเราจะไม่สามารถใช้ดาวเหนือในการหาทิศทางยามค่ำคืนได้ การหาทิศทางในซีกโลกใต้จะสามารถทำได้โดยการหาทิศของ "ขั้วฟ้าใต้" เพียงเท่านั้น
ภาพนี้เป็นภาพที่ไม่มีวันสังเกตได้จากประเทศไทย เนื่องจากส่วนบริเวณกลางของภาพนั้นจะอยู่ใต้ขอบฟ้าของประเทศไทยเสมอ แต่อาจจะเป็นภาพที่สังเกตเห็นได้ทั่วไปของผู้สังเกตที่อยู่ในซีกโลกใต้ (สามารถดูภาพของท้องฟ้าที่ไม่มีเส้นบรรยายประกอบได้ในคอมเม้นต์)
ในบริเวณของขั้วฟ้าใต้ (South Celestial Pole) (กากบาทสีขาว) นั้น ไม่ได้บังเอิญเช่นขั้วฟ้าเหนือ และไม่มีดาวที่มีความสว่างอยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้แต่อย่างใดเลย นั่นหมายความว่าเราไม่มี "ดาวใต้" เช่นเดียวกับดาวเหนือในซีกโลกเหนือ
เนื่องจากไม่มี "ดาวใต้" ให้ช่วยสังเกต การหาขั้วฟ้าใต้และทิศใต้จากดวงดาวจึงทำได้ยากกว่าในซีกโลกเหนือเป็นอย่างมาก ซ้ำร้าย บริเวณใกล้ๆ ขั้วฟ้าใต้นั้นแทบจะไม่มีดาวอะไรที่จะสังเกตได้เลย ดาวที่พอจะมีความสว่างเพียงพอที่จะสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ที่อยู่ใกล้ที่สุดก็คือดาวซิกม่า ออกแทนทิส (sigma octantis) (มุมบนซ้ายของ "สี่เหลี่ยมคางหมู" บริเวณกึ่งกลางของภาพ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว octans (สามเหลี่ยมสีเทาด้านล่างของภาพ)
ดาว sigma octantis นั้นเป็นดาวที่ใกล้เคียงกับ "ดาวใต้" มากที่สุด แต่ดาว sigma octantis ก็อยู่ในบริเวณขีดจำกัดของตาเปล่าของมนุษย์ ทำให้สังเกตได้ยาก และก็ยังอยู่ห่างจากขั้วฟ้าใต้ที่แท้จริงอีกพอสมควรเกือบ 1 องศา การหาขั้วฟ้าใต้นั้นจึงทำได้เพียงการคาดคะเนตำแหน่งโดยคร่าวๆ
การประมาณตำแหน่งขั้วฟ้าใต้นั้นสามารถทำได้โดยวิธีหลักๆ สองวิธี
วิธีที่ 1 (สีเหลือง):
ทำได้โดยการใช้กลุ่มดาว "กางเขนใต้" ที่ชี้ไปยังบริเวณใกล้ๆ ขั้วฟ้าใต้ แต่เนื่องจากปลายกลุ่มดาวกางเขนใต้นั้นไม่ได้ชี้ไปยังดาวสว่างเช่นเดียวกับปลายกระบวยของกลุ่มดาวหมีใหญ่ เราจึงอาจจะต้องกะประมาณระยะทางสี่เท่าครึ่งของความยาวกางเขนใต้ จึงจะไปบรรจบบริเวณใกล้ๆ ขั้วฟ้าใต้ หรือหากเราสามารถสังเกตเห็นดาว Rigil Kent (alpha centauri) และ Hadar (beta centauri) เราสามารถลากจากจุดกึ่งกลางระหว่างดาวทั้งสอง ทำมุมฉากไปตัดกับเส้นที่ลากจากกางเขนใต้ บริเวณจุดตัดของเส้นทั้งสองจึงจะเป็นบริเวณที่ใกล้เคียงขั้วฟ้าใต้
วิธีที่ 2 (สีฟ้า):
ทำได้โดยการสังเกต "เมฆแมกเจลแลน" ซึ่งเมฆแมกเจลแลนนี้จะปรากฎเป็นลักษณะคล้ายๆ เมฆจางๆ บนท้องฟ้าเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าในที่ๆ มืดสนิท ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นกาแล็กซีแคระที่เป็นบริวารของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่ (อ่านเกี่ยวกับเมฆแมกเจลแลนใหญ่ได้ที่ [2]) หากเราเชื่อมระหว่างเมฆแมกเจลแลนใหญ่ และสร้างสามเหลี่ยมด้านเท่าจากระยะทางระหว่างเมฆแมกเจลแลนทั้งสอง ที่มุมอีกมุมหนึ่งของสามเหลี่ยมด้านเท่านี้จะอยู่ใกล้เคียงกับขั้วฟ้าใต้
ซึ่งจากภาพ เราจะสังเกตได้ว่าแม้กระทั่งวิธีทั้งสองนั้น ก็ยังไม่ได้อยู่ตรงกับขั้วฟ้าใต้พอดี แต่ยังห่างออกไปราว 5-6 องศา เทียบกับดาวเหนือที่อยู่ห่างออกไปจากขั้วฟ้าเหนือเพียง 0.75 องศา นอกจากนี้วิธีอื่นๆ ที่อาจทำได้เช่นการใช้ดาว Canopus (ไม่ปรากฏในภาพ แต่จะอยู่เลยขอบภาพไปด้านบนเล็กน้อย) กับดาว Achenar (ดาวสว่างสีฟ้าทางด้านขวาของภาพ) สร้างสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือโดยการเชื่อมดาวโจร หรือดาวซีริอุส (Sirius) (ไม่ปรากฏในภาพ อยู่ด้านบนสูงเลยจาก Canopus ไปอีก) และลากเส้นเชื่อมผ่านดาว Canopus ก็จะชี้ไปยังบริเวณขั้วฟ้าใต้ได้เช่นกัน
สำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ต้องการจะเล็งขั้วฟ้าใต้อย่างแม่นยำเพื่อการตั้งกล้องโทรทรรศน์นั้น สามารถทำได้โดยการเล็งเทียบกับบริเวณคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูที่มี sigma octantis เป็นมุมหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/479976475545897/
[2] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/923165087893698/
Search