J.W. Marriott ผู้ก่อตั้งเชนโรงแรมใหญ่สุดในโลก ที่เริ่มจากร้านขายรูตเบียร์ /โดย ลงทุนแมน
“Marriott” เป็นเชนโรงแรมที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกและมีโรงแรมในเครือกว่า 30 แบรนด์
แต่รู้หรือไม่ว่าอาณาจักร Marriott ที่ก่อตั้งโดยคุณ J.W. Marriott ไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจโรงแรม แต่เขากลับมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านขายรูตเบียร์ A&W
จากร้านขายรูตเบียร์มาเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่สุดในโลก
Marriott ผ่านอะไรมาบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เชนโรงแรมขนาดใหญ่ ที่มีโรงแรมอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก จะมีชื่อที่เราคุ้นเคย เช่น Marriott, Hilton, InterContinental และ Hyatt
ซึ่ง Marriott ถือได้ว่าเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่สุดในโลก ทั้งในด้านมูลค่าตลาดที่มากที่สุดราว 1.46 ล้านล้านบาท รวมถึงในด้านจำนวนห้องพัก ที่ Marriott มีให้บริการราว 1.4 ล้านห้องพัก ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
Marriott มีโรงแรมในเครือกว่า 30 แบรนด์ ซึ่งก็เป็นแบรนด์ดังที่คนส่วนใหญ่คุ้นหู อย่างเช่น JW Marriott, St. Regis, The Ritz-Carlton, Sheraton และ Renaissance
โดยผู้ก่อตั้งอาณาจักร Marriott คือคุณ John Willard Marriott หรือ “J.W. Marriott”
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ธุรกิจดั้งเดิมที่เขาเริ่มต้นขึ้นไม่ใช่ธุรกิจโรงแรม
คุณ John เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1900 ที่รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวที่ทำฟาร์มแกะเล็ก ๆ ซึ่งมีฐานะค่อนข้างยากจน
เขาเริ่มค้าขายตั้งแต่อายุ 13 ปี จากการปลูกผักกาดในแปลงที่ดินที่ว่างอยู่ และเขานำเงินรายได้ที่ได้ไปให้พ่อ
จากความสำเร็จในการขายผัก พ่อของ John เลยไว้ใจให้ลูกชายพาแกะ 3,000 ตัว ขึ้นรถไฟไปขายที่เมืองซานฟรานซิสโกด้วยตัวคนเดียวในวัยเพียง 14 ปี ก่อนที่จะถูกขอให้เลิกเรียนเพื่อมาช่วยงานที่บ้านในเวลาต่อมา
เมื่อ John อายุ 19 ปี เขาก็ต้องเดินทางไปเป็นมิชชันนารีที่โบสถ์แห่งหนึ่งในนิวอิงแลนด์เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นก็เดินทางกลับมาบ้านที่เมืองยูทาห์
ระหว่างทางกลับ เขาได้แวะที่เมืองวอร์ชิงตัน ดี.ซี. และเดินผ่านร้านค้าแห่งหนึ่งซึ่งคนต่อคิวยาวมาก นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ John ได้รับรู้ถึงความนิยมของเครื่องดื่มที่เรียกว่า “รูตเบียร์”
แต่พอกลับมาถึงบ้าน John ก็ต้องเผชิญกับข่าวร้ายเพราะว่าธุรกิจฟาร์มแกะของพ่อเขาล้มละลาย
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาแกะที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจตกต่ำ
ตั้งแต่นั้นมา John จึงตั้งเป้าว่าเขาจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนนี้ให้ได้
เขาเลยตัดสินใจกลับไปเรียนต่อให้ได้วุฒิมัธยมศึกษา โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่เคยสอนเขา
ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ ยังช่วยให้ John รับหน้าที่สอนวิชาที่เกี่ยวกับศาสนา เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม
หลังจากนั้น John ก็ได้เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ยูทาห์ ซึ่งเขาต้องหาเงินมาจ่ายค่าเทอมจากทุกวิถีทาง ตั้งแต่ขายกางเกงชั้นใน ขนสัตว์ ไปจนถึงการเป็นช่างตัดไม้
จนกระทั่งในช่วงที่เรียนปีสุดท้าย แถวมหาวิทยาลัยของเขาก็มีร้านรูตเบียร์ A&W มาเปิด
ซึ่งคิวยังคงยาว เหมือนกับตอนที่เขาเห็นครั้งแรกที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี.
หลังจากเรียนจบในปี ค.ศ. 1926 John แต่งงานกับ Alice Sheets สาวที่เขาตกหลุมรักและคบหากันมาตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งคู่วางแผนที่จะเริ่มทำธุรกิจด้วยกัน และสิ่งแรกที่ John นึกถึงก็คือเครื่องดื่มสุดฮิตอย่างรูตเบียร์
John ใช้เงินเก็บ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกันเงินที่กู้ยืมมาอีก 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็นมูลค่าราว 83,000 บาท เพื่อขอซื้อแฟรนไชส์รูตเบียร์ของ A&W
ผ่านไป 1 ปี เขาก็ได้เปิดร้านขายรูตเบียร์เล็ก ๆ ที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งแน่นอนว่าขายดีแบบที่เขาคิดไว้
แต่สิ่งที่เขาลืมคิดถึงไปก็คือ รูตเบียร์ไม่ได้ขายดีทุกฤดู เพราะพอเข้าช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกบ่อย และอากาศเริ่มเย็นลง เครื่องดื่มเย็นสดชื่นอย่างรูตเบียร์กลับไม่เป็นที่ต้องการ ยอดขายของทางร้านจึงลดลงเรื่อย ๆ
Alice ภรรยาของเขาเลยเสนอไอเดียว่าควรขายอาหารด้วย เพื่อให้ยอดขายที่ร้านไม่ผันผวนตามฤดูกาลเกินไป
John เห็นด้วยทันที เขาจึงขออนุญาตทาง A&W เพื่อขอเสิร์ฟอาหารที่ร้านด้วย ส่วน Alice ก็ไปขอความช่วยเหลือจากเชฟที่สถานทูตเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับร้าน จนได้สูตรและวิธีทำอาหารเม็กซิกันมา
ทั้งคู่จึงตั้งชื่อร้านของพวกเขาใหม่ว่า “Hot Shoppes” ซึ่งเป็นร้านขายอาหารเม็กซิกัน แฮมเบอร์เกอร์ และฮอตดอก รวมถึงรูตเบียร์ของ A&W
ผ่านไปปีเดียว Hot Shoppes เปิดเพิ่มได้อีก 2 สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นร้านแบบ Drive-in หรือการขับรถไปจอดที่ลานจอดรถของร้าน แล้วสั่งอาหารมาทานบนรถ ที่กำลังได้รับความนิยมสุด ๆ ในสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศสหรัฐอเมริกากลับเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ John และ Alice ก็ยังพา Hot Shoppes รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มาได้ แถมยังขยายสาขาเพิ่มมาเป็น 7 สาขาในปี ค.ศ. 1933
แต่ในปีเดียวกันนี้ John ก็ต้องเจอกับข่าวร้าย เพราะเขาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งหมอบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 2 ปี
John จึงหยุดทำงาน และใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว แต่แล้วเรื่องไม่น่าเชื่อที่แม้แต่หมอก็ยังแปลกใจ เพราะอาการของเขาดีขึ้นมาก จนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้
หลังจากรักษาตัวจนหายดีและกลับมาทำงานได้แล้ว ในปี ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นช่วงที่การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นที่นิยม John สังเกตว่าลูกค้ามักซื้ออาหารแบบนำกลับบ้านที่ร้าน Hot Shoppes สาขาใกล้สนามบิน เพื่อนำไปทานบนเครื่องบิน
John เลยเกิดไอเดียว่า ให้ Hot Shoppes ทำอาหารกล่องให้กับสายการบินใช้เสิร์ฟบนเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นเจ้าแรก ๆ ในขณะนั้น
เมื่อเขานำไอเดียนี้ไปเสนอกับทางสายการบินต่าง ๆ ก็มีสายการบิน Eastern Airlines และ American Airlines ที่ตอบตกลง
มาถึงช่วงต้นทศวรรษ 1940s ร้าน Hot Shoppes ขยายมาเป็น 24 สาขา ซึ่งช่วงนี้เองสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มต้นขึ้น แต่ Hot Shoppes ก็ยังรอดพ้นจากวิกฤติได้อีกครั้งจากการปรับตัวไปให้บริการอาหารในฐานทัพทหารและสำนักงานรัฐบาล
จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1950s การเดินทางท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยมสูง John เลยสนใจซื้อที่ดินเปล่าที่อยู่ตรงข้ามสนามบินวอชิงตัน เพื่อสร้างโมเทลที่ชื่อว่า “Twin Bridges” ซึ่งเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1957 ก่อนที่ 2 ปีให้หลัง ได้สร้างโรงแรมแห่งที่ 2 ที่ชื่อ Key Bridge Motor
และในที่สุด กิจการโรงแรมของ John Willard Marriott ก็ได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากเปิดร้านรูตเบียร์มาได้ 30 ปี
ต่อมาในปี ค.ศ. 1967 John ตั้งชื่อบริษัทของเขาใหม่ว่า “Marriott” ซึ่งใช้เรียกรวมทุกกิจการในเครือ ทั้งโรงแรมและร้านอาหาร
ในช่วงเริ่มต้นของกิจการโรงแรม ก็ได้ลูกชายคนโตของ John กับ Alice ที่ชื่อว่า “J.W. Bill Marriott Jr.” เข้ามาช่วยบริหาร
Bill เรียนด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ โดยภายใต้การบริหารของเขา บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นอย่างชัดเจน จน Bill กลายมาเป็นบุคคลสำคัญที่ได้วางรากฐานธุรกิจและขยายอาณาจักร Marriott
ด้วยผลงานที่โดดเด่นของ Bill จึงทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานบริษัทในปี ค.ศ. 1964 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็น CEO ในอีก 8 ปีต่อมา
Bill เน้นขยายโรงแรมใกล้สนามบิน และโรงแรมเพื่อการประชุมหรือ Convention โดยสร้างจุดเด่นให้กับโรงแรมของ Marriott ที่มีทั้งห้องจัดประชุมสัมมนา ภัตตาคาร ไปจนถึงลานสเกตน้ำแข็ง
นอกจากนี้ Bill ยังเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากการเป็นเจ้าของโรงแรมเอง สู่การรับบริหารโรงแรม และระบบแฟรนไชส์
นั่นจึงทำให้ในปี ค.ศ. 1993 บริษัท Marriott แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 บริษัท
บริษัทแรกชื่อ Marriott International ที่จัดการในส่วนของธุรกิจรับบริหารโรงแรมและระบบแฟรนไชส์ ซึ่งดูแลโดยลูกชายคนโต นั่นก็คือ Bill
บริษัทที่สองชื่อ Host Hotels and Resorts ที่จัดการในส่วนของธุรกิจโรงแรมที่ Marriott เป็นเจ้าของเอง ซึ่งดูแลโดยน้องชายของ Bill ที่ชื่อ Richard
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ช่วยเร่งขยายฐานลูกค้าให้ Marriott ก็คือการเป็นบริษัทโรงแรมแรกของโลก ที่ให้บริการระบบจองที่พักแบบออนไลน์ ในปี ค.ศ. 1995
และกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Marriott ขยายอาณาจักรโรงแรมได้อย่างรวดเร็วก็คือ “การควบรวมกิจการ”
ปี ค.ศ. 1995 Marriott เริ่มซื้อกิจการครั้งแรก ด้วยการเข้าไปถือหุ้น 49% ในโรงแรม Ritz-Carlton ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมาจะเข้าซื้อทั้งกิจการ
แต่การซื้อกิจการที่สำคัญที่สุด เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ภายใต้การนำของ CEO ที่เป็นคนนอกตระกูลคนแรกอย่าง Arne Sorenson
Marriott ได้เข้าซื้อกิจการ Starwood Hotels and Resorts ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรมดังมากมาย อย่างเช่น Sheraton, W Hotels และ St. Regis
และในตอนนี้เองที่ Marriott ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่สุดในโลก
น่าเสียดายที่ John เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เขาจึงไม่มีโอกาสได้เห็นความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร Marriott ในปัจจุบัน ที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม
แต่สิ่งสำคัญที่ตกทอดมาจาก John จนกลายเป็นหนึ่งในดีเอ็นเอของ Marriott ก็คือวัฒนธรรมองค์กร
เพราะ John ให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนและดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว มาตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจ
เหมือนกับหนึ่งในคำพูดอมตะของเขาที่ว่า
“Take care of associates, and they’ll take care of your customers”
หรือ ดูแลพนักงานของคุณให้ดี แล้วพนักงานเหล่านั้นจะดูแลลูกค้าของคุณต่อเอง
นั่นจึงทำให้ Marriott ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในโรงแรมที่น่าเข้าพักมากที่สุดเท่านั้น
แต่ในมุมของสถานที่ทำงาน Marriott ยังติดอันดับโลกในด้านบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดเช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.cnbc.com/2021/08/10/how-marriott-became-the-worlds-biggest-hotel-chain.html
-https://www.washingtonpost.com/archive/politics/1985/08/14/hotel-magnate-jw-marriott-dies-at-age-84/d8cfeda2-6a83-40fc-8126-310233d114f0/
-https://www.entrepreneur.com/article/197668
-https://edition.cnn.com/2012/04/12/business/marriott-hotel-industry/index.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Marriott_International
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_chained-brand_hotels
-https://companiesmarketcap.com/hotels/largest-hotel-companies-by-market-cap/
-https://careers.marriott.com/20-years-fortune-100-list/
-https://www.marriott.com/culture-and-values/j-willard-marriott.mi
largest companies by market cap 在 ลงทุนแมน Facebook 的最佳解答
รู้จัก ฝรั่งเศส ผ่าน 10 บริษัท ที่ใหญ่สุดในประเทศ /โดย ลงทุนแมน
เมื่อเอ่ยถึง ฝรั่งเศส สิ่งแรกที่คนทั่วโลกจะนึกถึงก็คือ “ความหรูหรา”
วงการศิลปะแทบทุกแขนงของยุโรปล้วนมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส
และผู้คนที่นี่ก็คลั่งไคล้ศิลปะมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม วรรณกรรม เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่อาหารการกิน
ในยุคก่อนที่วัฒนธรรมอเมริกันจะครองโลก ฝรั่งเศสคือผู้ส่งออกวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด
และแน่นอนว่าวัฒนธรรม ก็ยังคงสร้างมูลค่าให้ฝรั่งเศสอย่างมหาศาลในปัจจุบัน..
10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดของประเทศฝรั่งเศส เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรูถึง 6 บริษัท
ทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องดื่ม เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากบริษัทแบรนด์หรูทั้งหลายแล้ว
ก็ยังมีบริษัทยา และบริษัทเทคโนโลยีอยู่ใน Top 10 ด้วย
เรื่องราว 10 บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ราชสำนักฝรั่งเศสคือจุดเริ่มต้นของความหรูหรา
ศตวรรษที่ 15 พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิชี เป็นผู้ริเริ่มอุตสาหกรรมน้ำหอมในฝรั่งเศส
ศตวรรษที่ 16 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ริเริ่มนำวิกมาสวมศีรษะ และใส่รองเท้าส้นสูง
และศตวรรษที่ 19 จักรพรรดินีเออเฌนี เป็นผู้ผลักดันให้เกิดโรงเรียนสอนการออกแบบ และผลักดันให้เกิดแบรนด์แฟชั่นชั้นนำมากมาย
ถึงแม้ราชสำนักฝรั่งเศสจะต้องประสบกับการปฏิวัติหลายต่อหลายครั้ง แต่ความหรูหราที่ได้ทิ้งไว้ก็ยังถูกนำมาสานต่อ และผ่านการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องแต่งกาย ที่มีการจัดตั้งสถาบันสอนออกแบบ ให้กำเนิดการเดินแฟชั่นโชว์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ดึงดูดนักออกแบบเสื้อผ้าจากทั่วฝรั่งเศสและทั่วโลกให้เข้ามาแสดงฝีไม้ลายมือ จนทำให้กรุงปารีสกลายเป็นเมืองศูนย์กลางแฟชั่นระดับโลก
การวางแผนอย่างเป็นระบบระเบียบนี้เอง ส่งผลให้วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศสกลายเป็น Story และนำมาสู่การสร้างแบรนด์ที่เป็นตำนานระดับโลก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หาก 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส จะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรูถึง 6 บริษัท
ซึ่งหลายบริษัทเกิดจากการควบรวมหลายแบรนด์เข้าไว้ด้วยกัน
หากเรียงตามลำดับอายุที่ก่อตั้ง จะได้เป็น..
- LVMH
ถึงแม้บริษัทนี้จะเกิดจากการควบรวมบริษัทในปี 1987 แต่ประวัติของแต่ละบริษัทที่อยู่ในเครือถูกย้อนไปไกลกว่านั้น
Moët & Chandon เป็นผู้ผลิตแชมเปญ ก่อตั้งในปี 1743
Hennessy ผู้ผลิตบรั่นดีคอนญัก ก่อตั้งในปี 1765
และ Louis Vuitton ผู้ผลิตกระเป๋าเดินทางแบบทรงเหลี่ยม ในปี 1854 เพื่อให้ชนชั้นสูงวางบนรถม้าได้อย่างสะดวกสบาย ก่อนจะกลายเป็นตำนานของกระเป๋าในเวลาต่อมา
ทั้ง 3 บริษัทได้ควบรวมกันในปี 1987 แต่หลังจากนั้น 2 ปีก็เกิดสงครามแย่งกิจการ จนท้ายที่สุดก็ได้ Bernard Arnault บุคคลภายนอก เข้ามามีอำนาจในการบริหาร LVMH นับตั้งแต่นั้นมา
Arnault ได้ขยายอาณาจักร LVMH ด้วยการเข้าครอบครองกิจการแบรนด์หรูชื่อดังอย่างต่อเนื่อง
ทั้งเครื่องแต่งกาย ไวน์ นาฬิกา จน LVMH ครอบครองแบรนด์หรู กว่า 75 แบรนด์
ปัจจุบัน LVMH กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์หรูที่ใหญ่สุดในโลก และถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในฝรั่งเศสและยุโรป ด้วยมูลค่า 13.5 ล้านล้านบาท
- Hermès
กิจการนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1837 โดย Thierry Hermès
แรกเริ่มบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอานม้าสำหรับชนชั้นสูง ต่อมาลูกชายก็ได้ขยายธุรกิจ และให้กำเนิดกระเป๋าเพื่อแบกสัมภาระไปกับการเดินทางบนหลังม้า จนกลายเป็นกระเป๋าที่มีรูปแบบเอกลักษณ์ และขยายไปสู่เครื่องแต่งกายต่าง ๆ
ปัจจุบัน Hermès เป็นแบรนด์หรูที่ไม่ได้ควบรวมกับแบรนด์อื่น ๆ
ซึ่งถึงแม้จะเป็นแบรนด์เดี่ยว แต่มูลค่าของ Hermès ก็สูงถึง 5.3 ล้านล้านบาท
- EssilorLuxottica
สมาคมช่างทำแว่นตาแห่งปารีส หรือ Société des Lunetiers (SL) หรือ Essel ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1849 ให้เป็นศูนย์รวมของช่างฝีมือ เพื่อพัฒนากระบวนการทำแว่นตา ทั้งกรอบแว่นและเลนส์แว่นตา
ต่อมา Essel ได้ควบรวมกับบริษัททำเลนส์ Silor กลายเป็น Essilor
และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเลนส์สายตา โดยเฉพาะกลุ่มเลนส์ตระกูล Varilux และล่าสุดได้ควบรวมกับบริษัท Luxottica บริษัทผลิตกรอบแว่นตาที่ใหญ่สุดในโลกของอิตาลี
ทำให้บริษัทนี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเรื่องแว่นตาของโลก ที่ครอบคลุมตั้งแต่เลนส์ ไปจนถึงแว่นตา
และมีมูลค่าตลาด 2.6 ล้านล้านบาท
- Kering
เช่นเดียวกับ LVMH ถึงแม้ Kering จะก่อตั้งในปี 1963 แต่ประวัติของแต่ละบริษัทที่อยู่ในเครือถูกย้อนไปไกลกว่านั้น
บริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในเครือ ก็คือ Boucheron แบรนด์เครื่องประดับสุดหรูของฝรั่งเศส ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1858 และเป็นที่โปรดปรานอย่างมากของชนชั้นสูงในยุคนั้น
Kering ยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับชั้นนำอีกมากมาย
ทั้ง Yves Saint Laurent ของฝรั่งเศส และของประเทศอื่น ๆ เช่น Gucci และ Bottega Veneta ของอิตาลี
ด้วยความที่มีแบรนด์หรูระดับโลกมากมาย มูลค่าบริษัทของ Kering จึงสูงถึง 3.7 ล้านล้านบาท
- L'Oréal
ก่อตั้งในปี 1909 โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ Eugène Schueller ได้คิดค้นน้ำยาย้อมสีผม แล้วได้รับเสียงตอบรับจากช่างทำผมในเมืองปารีสเป็นอย่างมาก
จนทำให้เขาตั้งเป็นบริษัท Société Française de Teintures Inoffensives pour Cheveux ขึ้นมา และต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น L'Oréal
แต่หลังจากที่ Eugène Schueller เสียชีวิต แล้ว François Dalle ได้เข้ามาบริหารงานแทน
Dalle ก็ได้ขยายตลาดด้วยการซื้อบริษัทเครื่องสำอางแบรนด์อื่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ และเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า
หลังจากนั้น L'Oréal ก็ซื้อบริษัทอื่นเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง เวชสำอาง เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ
จนในที่สุด L'Oréal ก็กลายเป็นบริษัทเครื่องสำอางที่มีมูลค่าบริษัทมากที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 8.4 ล้านล้านบาท
- Dior
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Christian Dior ดีไซเนอร์อิสระ ได้รับจ้างออกแบบหมวกให้กับแวดวงไฮโซ ที่ผ่านชีวิตล้มลุกคลุกคลานจนได้เปิดห้องเสื้อของตัวเองในปี 1946
เขาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการแฟชั่นของปารีส ด้วยคอลเลกชันแรก ที่มีชื่อว่า “New Look” เป็นชุดเข้ารูป และกระโปรงสุ่มบาน ก่อนจะขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่น้ำหอม “Miss Dior” อันโด่งดัง
หลังจากนั้นแบรนด์ Dior ก็ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน จนท้ายที่สุดก็ได้มาอยู่ภายใต้การบริหารของ Bernard Arnault แห่ง LVMH ในปี 1984
Dior ก็เติบโตจนเป็นอาณาจักรแฟชั่นที่มียอดขายหลักล้านล้านบาท และมีมูลค่าตลาด 4.8 ล้านล้านบาท..
แต่ฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่แบรนด์หรูเท่านั้น..
นอกจากทั้ง 6 บริษัทแบรนด์หรูที่กล่าวมาข้างต้น บริษัท Top 10 ของฝรั่งเศสยังประกอบไปด้วย
- อุตสาหกรรมไฟฟ้า 1 บริษัท
- ยารักษาโรค 1 บริษัท
- ก๊าซ 1 บริษัท
- และพลังงาน 1 บริษัท
และเช่นเดียวกับแบรนด์หรู หากเรียงลำดับอายุของการก่อตั้ง จะเริ่มต้นจาก..
- Schneider Electric
ในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงแม้อุตสาหกรรมในฝรั่งเศสจะไม่ได้โดดเด่นเท่าอังกฤษหรือเยอรมนีในยุคเดียวกัน แต่องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสก็ไม่น้อยหน้าใคร
นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Pierre-Émile Martin เป็นผู้พัฒนาเตากระทะ หรือ Open Hearth Furnace เพื่อใช้สำหรับหลอมเหล็กกล้าซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูงมาก
2 พี่น้องครอบครัว Schneider เดินทางจากเมืองบ้านเกิดที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนเยอรมนี มาลงทุนสร้างเตาหลอมเหล็กในเมือง Le Creusot ในปี 1836 จนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและเครื่องจักร
ไม่นานก็ได้ขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างและไฟฟ้า
ปัจจุบัน Schneider Electric คือผู้นำในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติ การควบคุมอาคาร และการบริหารจัดการพลังงานระดับโลก มีมูลค่าบริษัท 3.3 ล้านล้านบาท
- Sanofi
ปี 2020 ฝรั่งเศสส่งออกยารักษาโรค มากเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.3 แสนล้านบาท
หนึ่งในจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยาในฝรั่งเศส มาจากห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์ ที่คนทั้งโลกจะต้องคุ้นเคยกับชื่อของเขา คือ Louis Pasteur ผู้ให้กำเนิดกระบวนการพาสเจอไรซ์ หรือการใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค
Louis Pasteur เป็นผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนพิษสุนัขบ้า และผู้ก่อตั้ง Pasteur Institute สถาบันวิจัยด้านวัคซีนในปี 1887
จนในปี 1974 Pastuer Production ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงงานผลิตวัคซีน และได้ถูกควบรวมเข้ากับบริษัทยาอีกหลายแห่ง จนท้ายที่สุดก็อยู่ภายใต้บริษัทยา Aventis
ต่อมาในปี 2004 Aventis ก็ได้ควบรวมกับบริษัท Sanofi และทำให้ Sanofi กลายเป็นบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งยารักษาโรคเรื้อรัง ยารักษาโรคมะเร็ง วัคซีน
รวมถึงวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังทำการวิจัยอยู่ในระยะที่ 3 ด้วย
ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย Sanofi จึงมีมูลค่าตลาดมากถึง 4.3 ล้านล้านบาท
- Air Liquide
Georges Claude วิศวกรชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนากระบวนการทำให้อากาศกลายเป็นของเหลว เพื่อแยกส่วนประกอบสำคัญในอากาศ คือก๊าซไนโตรเจน และก๊าซออกซิเจนออกจากกัน
กระบวนการนี้ทำให้ได้ก๊าซบริสุทธิ์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ก๊าซไนโตรเจน ใช้สำหรับการถนอมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
ในขณะที่ก๊าซออกซิเจน นอกจากจะใช้ทางการแพทย์แล้ว ยังสำคัญในอุตสาหกรรมเหล็กและกระจกอีกด้วย
ความสำเร็จนี้ทำให้ Georges Claude ได้ก่อตั้งบริษัท Air Liquide ในปี 1902
ปัจจุบัน Air Liquide ให้บริการแก๊สสำหรับอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ เคมี และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีมูลค่าบริษัทกว่า 2.8 ล้านล้านบาท
- TotalEnergies
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพฝรั่งเศสประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก จนต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้น อุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐอเมริกาครองสัดส่วนกว่า 70% ของโลก
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้มอบหมายให้ Ernest Mercier จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งฝรั่งเศส (CFP) ในปี 1924 เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของฝรั่งเศสเอง
ในปัจจุบัน CFP ได้เปลี่ยนชื่อเป็น TotalEnergies เป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส
เป็นผู้ผลิตน้ำมันเครื่อง และผลิตภัณฑ์หล่อลื่นทั้งกับยานยนต์และอุตสาหกรรม
มีมูลค่าบริษัทกว่า 3.9 ล้านล้านบาท
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝรั่งเศส
ทุกบริษัทล้วนมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งเป็นมูลค่าที่ใหญ่กว่าบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย อย่างบริษัท ปตท.
หลายคนอาจคิดว่า แบรนด์ฝรั่งเศส สร้างเพียงแค่ Story ก็เพียงพอแล้วที่จะสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก
แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ วิจัยและพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นระบบ
และผ่านการบริหารกิจการ โดยเฉพาะการควบรวมแบรนด์ ที่ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าได้มากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ประเทศฝรั่งเศสไม่ได้เชี่ยวชาญแต่แวดวงศิลปะเท่านั้น
เพราะการพัฒนาศิลปะจะเติบโตได้ ส่วนหนึ่งจะต้องเกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากการสังเกตบริษัทชั้นนำ 10 บริษัทของแต่ละประเทศ เราก็สามารถบอกได้คร่าว ๆ ว่าประเทศเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านไหน และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอะไรในอนาคต
สำหรับฝรั่งเศส คงบอกได้ว่า
ประเทศนี้สามารถนำโลกแห่งศิลปะ กับวิทยาศาสตร์ ซึ่งดูเหมือนอยู่คนละขั้วกัน
มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://companiesmarketcap.com/france/largest-companies-in-france-by-market-cap/
-https://www.essilor.co.th/about-essilor
-https://www.vogue.co.uk/article/christian-dior
-https://www.airliquide.com/shareholders/stock-share/focus-on/air-liquide-118-years-history-individual-shareholders
-https://www.se.com/th/en/about-us/company-profile/history/schneider-electric-history.jsp
-https://www.worldstopexports.com/drugs-medicine-exports-country/
-https://www.sanofi.com/en/about-us/through-time
-https://totalenergies.com/group/identity/history
largest companies by market cap 在 ลงทุนแมน Facebook 的精選貼文
รู้จักเดนมาร์ก ผ่าน 10 บริษัท ที่ใหญ่สุดในประเทศ /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึง บริษัทที่ใหญ่ที่สุด หรือมีมูลค่าตลาดมากที่สุดของแต่ละประเทศ ก็พอจะบอกได้อย่างคร่าว ๆ ว่า ประเทศเหล่านั้นมีอุตสาหกรรมด้านไหนที่โดดเด่น
หรือให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอะไรที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด เป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมไอทีถึง 6 บริษัท
โดยบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด คือ Apple มีมูลค่ากว่า 73 ล้านล้านบาท และเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
ประเทศฝรั่งเศส ที่คนทั้งโลกยอมรับในเรื่องคุณภาพสินค้าและความหรูหรา ทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดของฝรั่งเศส จึงเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรูถึง 6 บริษัท โดยบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด ก็คือ LVMH มีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท
ส่วนเดนมาร์ก ประเทศเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยระดับ Top 10 ของโลกมานานหลายทศวรรษ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดของประเทศนี้ ไม่ใช่บริษัทด้านไอที พลังงาน แบรนด์หรู หรืออุตสาหกรรมการผลิต แต่กลับเป็น “อุตสาหกรรมยา” ที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญของชีวิตมนุษย์..
เดนมาร์กมีบริษัทยาอะไรที่มีมูลค่ามากที่สุด
และ 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เดนมาร์กเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ร่วมกับสวีเดนและนอร์เวย์
ในปี 2020 ชาวเดนมาร์ก 5.8 ล้านคน มี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1,890,000 บาทต่อปี
ความร่ำรวยของชาวเดนมาร์ก มีที่มาจากบริษัทน้อยใหญ่ ที่สามารถสร้างสินค้าคุณภาพสูงและขายได้ทั่วโลก โดยเฉพาะ 10 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของเดนมาร์ก ที่ล้วนแต่เป็นบริษัทที่ขายสินค้าและบริการให้กับผู้คนทั้งโลก
ใน 10 บริษัทนั้นประกอบไปด้วย
บริษัทเบียร์ 1 บริษัท
ธนาคาร 1 บริษัท
บริษัทขนส่ง 2 บริษัท
บริษัทด้านพลังงาน 2 บริษัท
บริษัทยา เครื่องมือแพทย์ และไบโอเทคโนโลยี 4 บริษัท
เริ่มจากบริษัทเบียร์ 1 บริษัท คือ Carlsberg มีมูลค่าบริษัท 930,000 ล้านบาท
เบียร์สัญชาติเดนมาร์กที่คนทั้งโลกรู้จักนี้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1847 หรือเมื่อ 174 ปีที่แล้ว
Carlsberg เป็นหนึ่งในผู้นำเบียร์ลาเกอร์ หรือเบียร์ที่ต้องเก็บรักษาไว้ในที่เย็น และหมักบ่มเป็นเวลาหลายเดือน
Carlsberg ยังเป็นบริษัทแรกที่คิดค้นยีสต์บริสุทธิ์ สายพันธุ์ Saccharomyces Pastorianus
ที่ใช้ในการหมักเบียร์มาตั้งแต่ปี 1883 ซึ่งยีสต์ดังกล่าวยังคงใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบของเบียร์ลาเกอร์มาจนถึงปัจจุบัน
ธนาคาร 1 บริษัท คือ Danske Bank มีมูลค่าบริษัท 470,000 ล้านบาท
ธนาคารที่ก่อตั้งในกรุงโคเปนเฮเกน มาตั้งแต่ปี 1871 จุดประสงค์แรกเริ่มคือเพื่อให้เป็นธนาคารสำหรับเกษตรกร ปัจจุบัน Danske Bank คือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก และให้บริการในหลายประเทศในยุโรป ทั้งสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ลิทัวเนีย และไอร์แลนด์
กรุงโคเปนเฮเกนที่มีประชากรเพียง 1.8 ล้านคน ถูกจัดให้เป็นเมืองศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคยุโรปเหนือ และเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับที่ 34 ของโลก จากการจัดอันดับของ Long Finance
ซึ่งใกล้เคียงกับเมืองโอซากาของญี่ปุ่น และอันดับสูงกว่ากรุงเทพมหานครของไทย ที่อยู่ในอันดับ 59
บริษัทขนส่ง 2 บริษัท คือ Maersk และ DSV Panalpina
Maersk เจ้าแห่งเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับหนึ่งในการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ มีมูลค่าบริษัท 2,170,000 ล้านบาท
DSV Panalpina บริษัทด้านโลจิสติกส์ระดับโลก มีมูลค่าบริษัท 1,660,000 ล้านบาท
ให้บริการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึงให้บริการระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และบริหารสินค้าคงคลังทั่วโลก
ชาวเดนมาร์กมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวไวกิง
เมื่อรวมกับทำเลที่ตั้งของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นคาบสมุทรที่กั้นระหว่างทะเลเหนือทางตะวันตก กับทะเลบอลติกทางตะวันออก ประเทศที่ติดชายฝั่งทะเลบอลติก ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน ฟินแลนด์ รัสเซีย หรือโปแลนด์
หากต้องการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าจากโลกภายนอกก็ล้วนต้องผ่านเดนมาร์กทั้งสิ้น
เดนมาร์กจึงก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการส่งสินค้าในภูมิภาคยุโรปเหนือ
โดยบริการด้านการขนส่ง มีสัดส่วนสูงถึง 25% ของการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของประเทศเดนมาร์ก
บริษัทพลังงาน 2 บริษัท คือ Ørsted และ Vestas Wind Systems ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่เน้นการผลิตกังหันลม
เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานลมเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 56.3%
ข้อได้เปรียบก็มาจากทำเลที่ตั้งของเดนมาร์ก ซึ่งติดกับทะเลเหนือที่มีลมพัดแรง
ประกอบกับในช่วงวิกฤติน้ำมัน ราวทศวรรษ 1970s รัฐบาลเดนมาร์กต้องการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และเพื่อพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลจึงได้สนับสนุนงบประมาณแก่ทีมวิศวกร ในการพัฒนากังหันลมแห่งแรกของประเทศตั้งแต่ปี 1979 และประสบความสำเร็จในการสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งเพื่อผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของโลกในอีก 12 ปีถัดมา
ปัจจุบัน เดนมาร์กกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม รวมทั้งการผลิตอุปกรณ์สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมรายใหญ่รายหนึ่งของโลก
มูลค่าบริษัทพลังงานลมทั้ง 2 บริษัท
Ørsted มีมูลค่าถึง 1,990,000 ล้านบาท
และ Vestas Wind Systems มีมูลค่า 1,270,000 ล้านบาท
และก็มาถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุดในบริษัท Top 10 ซึ่งก็คือ บริษัทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่มีถึง 4 บริษัท ได้แก่ Genmab, Coloplast, Novozymes และ Novo Nordisk
อุตสาหกรรมยา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของเดนมาร์ก
ในปี 2020 เดนมาร์กส่งออกยารักษาโรค เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1
ด้วยมูลค่าการส่งออกกว่า 595,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเดนมาร์ก
ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เดนมาร์กส่งออกเป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่า 131,000 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วน 4% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
Genmab เป็นบริษัทไบโอเทคโนโลยี ที่พัฒนายาชีวภาพสำหรับรักษาโรคมะเร็ง
มีมูลค่าบริษัท 860,000 ล้านบาท
Coloplast บริษัทอุปกรณ์การแพทย์ เน้นพัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบขับถ่าย เช่น ทวารเทียม (Ostomy Bag)
มีมูลค่าบริษัท 1,090,000 ล้านบาท
Novozymes บริษัทไบโอเทคโนโลยี เป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตเอนไซม์ จุลินทรีย์ และชีวเภสัชภัณฑ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม
มีมูลค่าบริษัท 1,320,000 ล้านบาท
Novo Nordisk บริษัทยาที่มีผลิตภัณฑ์หลักคืออินซูลิน ฮอร์โมนที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของโลกในแง่ของมูลค่ายารักษาโรคเบาหวาน
มีนวัตกรรมเฉพาะทาง เช่น ปากกาอินซูลิน ที่หลากหลายและครอบคลุมในทุกระดับการรักษา
และจากจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศเดนมาร์ก ก็คือ “Novo Nordisk” นั่นเอง
โดย Novo Nordisk มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 6,100,000 ล้านบาท..
เดนมาร์กให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา
โดยเฉพาะในด้านเภสัชกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์
มีการจัดตั้ง Medicon Valley ชานกรุงโคเปนเฮเกน ตั้งแต่ปี 1997 ให้เป็นศูนย์รวมสถาบันวิจัยทางการแพทย์ โรงพยาบาล สำนักงานของบริษัทยาและไบโอเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
งบประมาณที่ใช้ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาของเดนมาร์กอยู่ที่ 3.0% ต่อ GDP ในปี 2020
สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศในปี 2021 โดย International Institute for Management Development
เดนมาร์กถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของโลก โดดเด่นด้วยศักยภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เดนมาร์กให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ทั่วถึง ฟรี และมีคุณภาพ
ชาวเดนมาร์ก 5.8 ล้านคน จึงสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างบริษัทที่ขายสินค้าและบริการเฉพาะทางให้กับผู้คนได้ทั้งโลก
โดยใน 10 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของเดนมาร์ก มีถึง 6 บริษัท ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่เทียบเท่าได้กับมูลค่าบริษัท ปตท. บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย
หากการสังเกตบริษัทชั้นนำ 10 บริษัทของแต่ละประเทศ เราก็สามารถบอกได้คร่าว ๆ ว่าประเทศเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านไหน และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอะไรในอนาคต
สำหรับเดนมาร์ก คงบอกได้ว่า
ประเทศนี้สามารถรักษาความเชี่ยวชาญที่มีมานาน ทั้งการทำเบียร์ การธนาคาร และการขนส่ง
ควบคู่ไปกับการวางแผนพัฒนาพลังงานสะอาด และไบโอเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตได้อย่างลงตัว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://companiesmarketcap.com/denmark/largest-companies-in-denmark-by-market-cap
-https://ourworldindata.org/renewable-energy
-https://novonordiskfonden.dk/en/about-the-foundation/history/
-https://www.longfinance.net/media/documents/GFCI_29_Full_Report_2021.03.17_v1.1.pdf
-https://atlas.cid.harvard.edu/explore?country=64&product=undefined&year=2018&productClass=HS&target=Product&partner=undefined&startYear=undefined
-https://companiesmarketcap.com/denmark/largest-companies-in-denmark-by-market-cap/
-https://www.worldstopexports.com/denmarks-top-10-exports/
-https://www.imd.org/centers/world-competitiveness-center/rankings/world-competitiveness/
-https://www.statista.com/statistics/732269/worldwide-research-and-development-share-of-gdp-top-countries/