ทำไม สหรัฐอเมริกา จึงเป็นประเทศแห่ง อุตสาหกรรมไอที ? ตอนที่ 2 /โดย ลงทุนแมน
“ซิลิคอนแวลลีย์ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นวิธีคิด”
คำกล่าวของ Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn แพลตฟอร์มเครือข่ายธุรกิจในการหางานและผู้ร่วมงาน ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตซิลิคอนแวลลีย์
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในแง่สถานที่ ซิลิคอนแวลลีย์ คือ พื้นที่หุบเขาราว ๆ 1,500 ตารางกิโลเมตร บริเวณรอบอ่าวซานฟรานซิสโก ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
ซิลิคอนแวลลีย์ประกอบไปด้วยเมืองน้อยใหญ่ ที่ล้วนเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเหล่าบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากคำว่า “ซิลิคอนชิป” ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นหน่วยความจำของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ส่วนในแง่วิธีคิด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปลูกฝังการศึกษาด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้งอกงาม ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนากระบวนการผลิตนักศึกษาให้เป็นนักธุรกิจ
จนนำมาสู่การก่อตั้งบริษัทไอทีระดับโลกแห่งแรกในซิลิคอนแวลลีย์ คือ Hewlett Packard (HP)
หลังจากนั้น หุบเขาแห่งนี้ก็เบ่งบานไปด้วยบริษัทไอที ดึงดูดนักประดิษฐ์และผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยีจากทั่วโลก ให้เข้ามาสานฝันให้กลายเป็นความจริง
และเมื่อมี “วิธีคิด” ช่วยส่องสว่าง นวัตกรรมทุกอย่างก็จะมีหนทางไป..
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ซีรีส์บทความ “Branding the Nation” ปั้นแบรนด์ แทนประเทศ
ตอน ทำไม สหรัฐอเมริกา จึงเป็นประเทศแห่ง อุตสาหกรรมไอที ? ตอนที่ 2
ด้วยอาณาบริเวณกว้างใหญ่รอบอ่าวซานฟรานซิสโก ต้นน้ำแห่งนวัตกรรมของซิลิคอนแวลลีย์จึงไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเท่านั้น
แต่เหนือขึ้นมาราว 50 กิโลเมตร ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสร้างนักประดิษฐ์ วิศวกร ไปจนถึงผู้ประกอบการชั้นยอดมากมาย มาประดับวงการไอที
หนึ่งในนั้นคือ Fred Moore ผู้ก่อตั้งสมาคมคอมพิวเตอร์โฮมบรูว์ สมาคมที่เป็นสถานที่นัดพบของผู้คลั่งไคล้ในโลกของเทคโนโลยี เป็นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด
โดยความปรารถนาสูงสุดของผู้คนในสมาคมนี้ คือการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขึ้นมาเอง
ในช่วงปี 1975 ที่มีการก่อตั้งสมาคมแห่งนี้
ความสำเร็จของการประดิษฐ์ “ไมโครโพรเซสเซอร์” ที่ย่อส่วนแผงวงจรรวมจำนวนมากเข้ามาอยู่ด้วยกันในชิปขนาดเล็ก
ทำให้ขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์จากที่มีขนาดใหญ่โตเท่าห้อง มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ราคาก็ถูกลงเรื่อย ๆ และด้วยหน่วยความจำที่มากขึ้น ความสามารถในการทำงานจึงสูงขึ้นและรวดเร็วขึ้นเป็นทวีคูณ
Steve Wozniak นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้ชักชวนเพื่อนสมัยมัธยมที่ชื่อ Steve Jobs ให้มาเข้าร่วมสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งนี้..
Steve Wozniak เป็นผู้คลั่งไคล้ในวิศวกรรมและมีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น เคยทำงานให้กับ Hewlett Packard
ส่วน Steve Jobs เป็นผู้มีหัวการค้า มีนิสัยกล้าคิดกล้าทำ เขาเคยทำงานให้กับบริษัทสร้างวิดีโอเกมชื่อ Atari และเคยทำงานในช่วงฤดูร้อนให้กับ Hewlett Packard ด้วยเช่นกัน
Wozniak ได้นำความรู้และประสบการณ์มาทดลองออกแบบคอมพิวเตอร์ด้วยแนวทางของตัวเอง โดยใช้ชิปเท่าที่จะหาได้ มาประกอบกับคีย์บอร์ด QWERTY และมีจอโทรทัศน์เป็นเครื่องแสดงผลในช่วงแรกเริ่ม
และเมื่อออกมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Jobs ก็เป็นผู้เสนอความคิดให้ลองนำสิ่งประดิษฐ์นี้ออกวางขายในเวลาต่อมา
ผลงานการประดิษฐ์ชิ้นนั้นของ Wozniak ถือเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรุ่นแรก ๆ ของโลก เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ถูกตั้งชื่อต่อมาว่า “Apple I”
สิ่งสำคัญไม่แพ้การสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาก็คือ “เสรีภาพทางความคิด”
ซิลิคอนแวลลีย์ มีสมาคมมากมายที่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางความคิด นำเสนอไอเดีย จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าทำ และเติบโตไปบนหนทางสร้างสรรค์ที่ตัวเองตั้งใจ
คอมพิวเตอร์ของ Wozniak ก็ถูกนำเสนอแก่สายตาสมาชิกในสมาคมโฮมบรูว์ในช่วงปลายปี 1975 ซึ่งหนึ่งในผู้เข้ามาร่วมชม คือ เจ้าของร้าน The Byte Shop ร้านขายของเบ็ดเตล็ดและอุปกรณ์ไอที
ที่เกิดความประทับใจกับคอมพิวเตอร์ชิ้นนี้มาก จึงได้สั่งซื้อคอมพิวเตอร์นี้ถึง 50 เครื่อง
แล้วก้าวแรกของบริษัท Apple ก็เริ่มต้นขึ้นในเมืองคูเปอร์ติโน ทางตอนใต้ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในอีก 1 ปีถัดมา..
ใครจะไปเชื่อว่า จากบริษัทเล็ก ๆ ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยี 2 คน
ในปี 1980 หลังการก่อตั้งเพียง 4 ปี บริษัทสามารถเติบโตจนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นในฐานะบริษัทมหาชนได้สำเร็จ และได้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ในตอนนี้..
เมื่อมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว อีกหนึ่งก้าวสำคัญของซิลิคอนแวลลีย์ ก็เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970s
นั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของ “อินเทอร์เน็ต”
เมื่อบริษัทไอที ชื่อ Xerox ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยในเมืองพาโล อัลโต ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชื่อว่า Xerox Palo Alto Research Center หรือ Xerox PARC
Xerox PARC ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อ จากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง ในยุคแรกที่มีชื่อว่า ระบบอีเทอร์เน็ต (Ethernet)
อีเทอร์เน็ต ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1973 โดยเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์ ผ่านเครือข่ายบริเวณระยะใกล้ หรือเครือข่าย LAN (Local Area Network)
ต่อมาในปี 1978 Vint Cerf ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ร่วมมือกับ Bob Kahn พัฒนาโพรโทคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet Protocol)
ซึ่งโพรโทคอลที่ว่านี้ คือชุดของขั้นตอนและกฎระเบียบ ทำให้ภายในชุดกฎระเบียบเดียวกัน ทั้ง 2 เครื่องจะสามารถเข้าใจระบบของกันและกัน และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้
โดยเฉพาะเลข Internet Protocol (IP) ที่เป็นการปูรากฐานให้กับโลกของอินเทอร์เน็ต
อุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะต้องมีเลขนี้ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ บนระบบเครือข่ายรู้จักกัน โดย IP จะระบุว่า เครือข่ายต่าง ๆ ควรเชื่อมโยงกันอย่างไร
เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตถูกปูรากฐาน ต่อมาในยุค 1980s ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น
Doug Engelbart นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ได้มาทำงานให้ PARC และได้พัฒนาระบบส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ หรือ Graphic User Interface (GUI)
จากคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่ใช้งานยากและต้องใช้งานผ่านตัวอักษร
ระบบ GUI ได้เข้ามาช่วยเปลี่ยนการใช้งานให้ง่ายขึ้นผ่านทางสัญลักษณ์หรือภาพ เช่น ไอคอน หน้าต่างการใช้งาน เมนู ปุ่มเลือก รวมถึงการพัฒนา “ตัวชี้ตำแหน่ง X-Y” ซึ่งต่อมาก็คือ “เมาส์”
ทั้งระบบ GUI และเมาส์นี่เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Steve Jobs นำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาและเกิดเป็น “Macintosh” ในปี 1984 ซึ่งถือเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรก ๆ ที่มีการออกแบบอย่างเข้าใจผู้ใช้งาน
ในเวลานี้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ครัวเรือนชาวอเมริกันที่ครอบครองคอมพิวเตอร์เพิ่มจากร้อยละ 5 ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s
มาเป็นร้อยละ 20 ในปี 1989
โลกอินเทอร์เน็ตถูกเชื่อมโยงเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเปิดทางให้เกิดการพัฒนา World Wide Web ในช่วงปี 1989 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัย CERN ในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องการส่งข้อมูลให้กับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
World Wide Web, WWW คือ ระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จากแหล่งข้อมูลหนึ่ง ไปยังแหล่งข้อมูลที่อยู่ห่างไกลทั่วโลก ให้มีความง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด
โดยผ่านซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า “เบราว์เซอร์”
แล้ว “สาธารณชน” ในยุค 1990s ก็เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก!
สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 1996 มีชาวอเมริกันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 16
ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปตะวันตกยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ถึงร้อยละ 5
การเกิดขึ้นของ World Wide Web ทำให้ย่านซิลิคอนแวลลีย์เริ่มคึกคักไปด้วยบริษัทที่มีโมเดลทำรายได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ถูกมองว่าเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต ขึ้นมามากมาย
และสิ่งสำคัญที่สุด ที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทไอทีในยุค 1950s คือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital ดึงดูดให้บริษัทสตาร์ตอัปมากมาย หลั่งไหลเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้
นักศึกษาปริญญาเอกสาขาคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 คน
คือ Larry Page และ Sergey Brin ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้ค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของ Search Engine
โดยใช้การทำงานของ Robot ที่ชื่อว่า Spider ซึ่งเป็นตัวสำรวจข้อมูล เมื่อพบข้อมูลที่ต้องการก็จะส่งข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นทาง
ปี 1998 ทั้ง 2 คน ได้ตั้งบริษัทที่ชื่อว่า “Google” ในเมืองเมนโลพาร์ก และ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นในอีก 5 ปีถัดมา
แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับบริษัท Apple เพราะอีก 20 ปีต่อมา บริษัท Google ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Alphabet ก็ได้กลายมาเป็น บริษัทที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 5 ของโลก..
แม้ความรุ่งเรืองจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต จะพาซิลิคอนแวลลีย์เข้าสู่การเติบโตที่รวดเร็วเกินไปจนเกิดวิกฤติฟองสบู่ดอตคอมในช่วงก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จนสร้างความเสียหายหลายบริษัทและนักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก
แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนั้น ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี ณ หุบเขาแห่งนี้ได้
หลังจากวิกฤติไม่นาน ก็มีการพัฒนาระบบ IPv6 ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน IP ช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น นอกเหนือจากเครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งปูทางมาถึงการเกิดขึ้นของ “สมาร์ตโฟน” โทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถในการใช้งานมัลติมีเดีย และเชื่อมต่อเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไร้รอยต่อ ด้วยระบบ IPv6
หนึ่งในสมาร์ตโฟนที่โดดเด่นที่สุดก็คือ iPhone จากบริษัท Apple ที่เปิดตัวในปี 2007
เช่นเดียวกับ Google ที่ได้เข้าซื้อบริษัท Android และเปิดตัวโทรศัพท์แอนดรอยด์ในปี 2008
และทั้งสองก็แข่งขันกันพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง
เมื่อผู้คนเริ่มใช้สมาร์ตโฟนมากขึ้น นำมาสู่การเกิดขึ้นของ “Application” ซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อช่วยการทำงานต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน
โดยแอปพลิเคชัน จะมีส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) หรือ UI เพื่อเป็นตัวกลางในการใช้งานให้ราบรื่น
และด้วยความที่ซิลิคอนแวลลีย์เต็มไปด้วย Venture Capital ที่คอยให้เงินทุนสนับสนุนไอเดียล้ำ ๆ
หุบเขาแห่งนี้ จึงยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทใหม่มากมาย โดยเฉพาะบริษัทที่จะมาสร้างสรรค์เครือข่ายสังคมออนไลน์..
ปี 2003 LinkedIn เกิดแพลตฟอร์มเครือข่ายธุรกิจในการหางานและผู้ร่วมงาน
ก่อตั้งโดย Reid Garrett Hoffman วิศวกรที่เคยทำงานให้กับ Apple
ปี 2004 เกิด Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก
ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการคิดค้นวิธีการเชื่อมผู้คนในรูปแบบใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ของ Mark Zuckerberg พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน
ปี 2006 หลังออกจากมหาวิทยาลัย Jack Dorsey พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน
ได้ก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภท Microblog ที่แสดงข้อความสั้น ๆ ความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร
โดยคิดค้นชื่อที่มาจากคำว่า Tweet ซึ่งแปลว่าเสียงนกร้อง Logo ของบริษัทจึงเป็นรูปนก และบริษัทนี้มีชื่อว่า Twitter
ปี 2009 เกิด WhatsApp แอปพลิเคชันในการติดต่อสื่อสารด้วยข้อความ ก่อตั้งโดย Jan Koum โปรแกรมเมอร์ที่เห็นประโยชน์จากการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟน
บริษัททั้งหมดล้วนมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์
หุบเขาแห่งเทคโนโลยีแห่งนี้ยังคงดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เข้าไปเติมเต็มความฝัน เพื่อสร้างสรรค์อุปกรณ์ไอทีที่ไฮเทคขึ้นเรื่อย ๆ
และเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกของเครือข่ายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและเชื่อมต่อกันและกัน หรือเรียกว่า “Internet of Things” ที่จะเข้ามามีบทบาทในทุกย่างก้าวของชีวิต
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมไอทีที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจของโลก ล้วนมีที่มาจากหลายปัจจัย
ทั้งระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง ที่สร้างองค์ความรู้และช่วยวางรากฐานสู่โลกธุรกิจ
วัฒนธรรมแห่งเสรีภาพ ที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าทำเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
แหล่งเงินทุน ที่เข้าถึงง่ายและมีหลากหลายรูปแบบ
และเครือข่ายผู้คิดค้นนวัตกรรมที่เติมเต็มความฝันต่อยอดกันไปไม่รู้จบ
หากถามว่า อิทธิพลทางเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาจะคงอยู่อีกนานแค่ไหน ?
เมื่อไรที่มนุษย์จะหยุดฝัน เมื่อนั้นอาจเป็นคำตอบ..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-มิเชลล์ ควินน์, เมื่อซิลิคอนแวลลีย์เติบใหญ่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562
-https://www.parc.com/about-parc/parc-history/
-https://www.internetsociety.org/wp-content/uploads/2017/09/ISOC-History-of-the-Internet_1997.pdf
-https://searchnetworking.techtarget.com/definition/TCP-IP
-https://www.lifewire.com/transmission-control-protocol-and-internet-protocol-816255
-https://tradingeconomics.com/united-states/personal-computers-per-100-people-wb-data.html
-https://www.businessinsider.com.au/highest-valued-public-companies-apple-aramco-biggest-market-cap-2020-1
-https://www.forbes.com/profile/reid-hoffman/#5f276ca61849
-http://startitup.in.th/the-rags-to-rich-jan-koum-whatsapp-co-founder-startup-story/
-https://www.set.or.th/set/enterprise/html.do?name=vc
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過2,910的網紅コバにゃんチャンネル,也在其Youtube影片中提到,...
podcast logo download 在 ลงทุนแมน Facebook 的精選貼文
รู้จัก Foxconn บริษัทที่จับมือกับ ปตท. ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า /โดย ลงทุนแมน
เดือนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
เมื่อ ปตท. ได้ประกาศร่วมลงทุนกับบริษัท Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.
หรือที่เรารู้จักกันในนาม Foxconn Technology Group
ในการร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นการช่วยกันผลักดันแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า MIH
ที่คาดว่าจะมาเป็นอนาคตของการสร้างยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในไทยและทั่วโลก
แล้วแพลตฟอร์ม MIH ที่ว่านี้ คืออะไร และน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Foxconn มีชื่อเสียงในฐานะ ผู้นำการผลิต
และประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก
ที่มีลูกค้ารายสำคัญ เช่น Apple, PlayStation, Nintendo, Huawei และ Xiaomi
เมื่อหลายคนได้ยินว่า Foxconn จะรุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้า
หลายคนคงเริ่มตั้งคำถาม ว่าจากบริษัทรับประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร
นี่คือสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนทั่วทุกมุมโลก ตั้งคำถามกับ Young Liu ผู้ที่เป็นซีอีโอ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Foxconn Group
ซึ่ง Young Liu ตอบคำถามนี้ด้วยการเปิดตัว
แพลตฟอร์มสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “MIH”
ในเดือนตุลาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา
โดยเขาแถลงวิสัยทัศน์ในวันเปิดตัว MIH ว่า
“การดำเนินกิจการรับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มากว่า 40 ปีของบริษัทนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าศักยภาพในการรับจ้างผลิตจะมีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา แต่เราเริ่มสร้างการเติบโตได้ยากขึ้นทุกที”
ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน จะต้องผลิตในปริมาณมาก และลดต้นทุนในการผลิตลงให้ได้มากด้วย ถึงจะสามารถทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ
ยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว Foxconn รับจ้างผลิตโน้ตบุ๊กให้แบรนด์ Compaq และ Dell ซึ่งในช่วงแรกบริษัทก็ทำกำไรจากการรับจ้างผลิตได้ดี
แต่เมื่อตลาดของสินค้าเหล่านั้น เริ่มมีคู่แข่งเข้ามามาก
และเกิดการแข่งขันกันในเรื่องราคา จนแบรนด์ต้องมาต่อรองกับ Foxconn เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
ก็ทำให้อัตรากำไรของ Foxconn ค่อย ๆ ลดลง
Foxconn จึงเริ่มมองหาอะไรใหม่ ๆ มาต่อยอดธุรกิจเดิม
และก็ได้มองเห็นว่า ผู้ครอบครองระบบปฏิบัติการ iOS อย่าง Apple
และระบบ Android อย่าง Google มีโมเดลที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะระบบ Android ที่เป็นระบบแบบเปิดทำให้มือถือหลากหลายยี่ห้อสามารถเข้าถึงและนำไปพัฒนาได้ง่าย
และนี่ก็คือแนวคิด ที่ Foxconn กำลังนำมาพัฒนาเป็น MIH ที่จะทำหน้าที่เป็น
“แพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก”
สำหรับให้ผู้พัฒนา เข้ามาใช้เป็นศูนย์กลางในการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง
โดยที่มาของคำว่า MIH มาจากคำว่า “Made in Hon Hai”
หมายถึงผลิตจากบริษัทหงไห่ หรืออีกชื่อเรียกของ Foxconn
ที่ปัจจุบันมีบริษัทในเครืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในไต้หวัน ฮ่องกง จีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา
และมีโรงงานตั้งอยู่ใน 11 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
ตอนนี้ แพลตฟอร์ม MIH มีบริษัทประกาศเข้าร่วมแล้วกว่า 1,700 แห่ง
เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 67% และเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือสื่อสารและอุตสาหกรรม Internet Software 25%
แพลตฟอร์ม MIH ยังได้สองผู้บริหารคนสำคัญ
คนแรกคือ Jack Cheng ในตำแหน่ง CEO ของแพลตฟอร์ม MIH ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ กว่า 40 ปี เคยทำงานให้กับ Ford, Fiat
และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมปลุกปั้น NIO บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน
ผู้บริหารคนที่สอง คือ William Wai
ที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์ของแพลตฟอร์ม MIH
William Wai มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มากว่า 20 ปี
เขาเคยร่วมงานกับสตีฟ จอบส์ ที่บริษัท NeXT, Inc.
และเคยเป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมพัฒนาระบบปฏิบัติการ iOS และ macOS
นอกจากผู้บริหารที่มีศักยภาพแล้ว
บริษัทที่เข้าร่วมแพลตฟอร์ม MIH ก็มีหลายบริษัทที่น่าสนใจ
เช่น
- Innolux บริษัทผู้ผลิตจอแสดงผลรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model X และ S ของ Tesla
- Foxconn Tech ในเครือ Foxconn Technology Group ที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีการหล่อฉีดอะลูมิเนียมอัลลอย ที่ทำให้ตัวรถยนต์แข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบา ซึ่งปัจจุบันได้รับคำสั่งซื้อจาก BMW ในการผลิตตัวถังรถยนต์ไฟฟ้า
อีกสิ่งที่เป็นเหมือน “หัวใจ” ของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ “แบตเตอรี่”
ซึ่งในรายชื่อบริษัทพันธมิตรของแพลตฟอร์ม MIH
มีชื่อของ “CATL” หนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้ Tesla และครองส่วนแบ่งในตลาดกว่า 24% ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน
นอกจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลักในตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้แล้ว
ก็ยังมีบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตชิป อย่าง TSMC, MediaTek, ARM หรือบริษัทที่กำลังพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่าง AWS (Amazon Web Services) และ Tier IV จากญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย
แพลตฟอร์ม MIH ตั้งเป้าหมายแรก คือต้องการมีสัดส่วน 10% ในตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ภายในปี 2025 และภายในสิ้นปี 2021 มีแผนจะผลิตรถบัสไฟฟ้าออกสู่ตลาด
ย้อนกลับมาที่การจับมือกันระหว่าง Foxconn Technology Group และ ปตท.
เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม MIH ในครั้งนี้
ก็คงเหมือนเป็นการเปิดประตูสู่การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้กว้างขึ้น
จากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่า อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ของไทย
จะสามารถปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://udn.com/news/story/7240/5343496
-https://iknow.stpi.narl.org.tw/Post/Read.aspx?PostID=17615
-https://baike.baidu.com/item/%E9%83%91%E6%98%BE%E8%81%AA/20386059
-https://baike.baidu.com/item/%E9%AD%8F%E5%9B%BD%E7%AB%A0
-https://ctee.com.tw/news/tech/417144.html
-https://www.bnext.com.tw/article/60624/foxconn-mih-logo-wall-mtk-mooly