"จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี : กรณีให้ดำเนินคดีจำนำข้าว"
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากบุคคลในรัฐบาลก่อน
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว กระทรวงการคลัง ได้สรุปความเสียหายกว่า ๖.๘๒ แสนล้านบาท จากปี ๒๕๔๗-๒๕๕๖ เสนอต่อรัฐบาลแล้วนั้น ข้าพเจ้าทั้งสามเห็นพ้องต้องกันว่าเฉพาะในส่วนโครงการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ๔ โครงการที่ขาดทุนทางบัญชีกว่า ๕.๑ แสนล้านบาทนั้น มีความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนและข้าราชการระดับสูงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่แผ่นดินรวมอยู่ด้วยนับแสนล้านบาท และ ฯพณฯ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ต้องเร่งรัดดำเนินคดีตามขั้นตอนและเหตุผลโดยลำดับดังนี้
๑.รายงานของคณะกรรมการได้สรุปชัดเจนแล้วว่า มีความเสียหายเป็นตัวเงินเกิดแก่ราชการอย่างมหาศาลยิ่ง และเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการแล้วว่า ไม่มีทางที่รัฐจะระบายข้าวในราคารับจำนำได้เลย ความข้อนี้มีผู้ท้วงติงเป็นอันมาก ทั้ง ป.ป.ช.และสถาบันศึกษาวิจัยระดับชาติ แต่บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลกลับเพิกเฉยไม่ระงับหรือปรับแก้โครงการ ตามวิสัยที่เจ้าหน้าที่ผู้รู้จักรับผิดชอบในราชการพึงกระทำ กลับฝืนผลักดันโครงการต่อไป ทั้งๆ ที่ตระหนักดีว่า เกิดความเสียหายแก่แผ่นดินอยู่ทุกวัน จนต่อมาแม้จะได้สำนึกยอมลดวงเงินจำนำและตั้งเงื่อนไขกรอบรับจำนำแต่เพียงบางส่วน ก็มิอาจจะเยียวยาความเสียหายอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นแล้วได้
๒.การปฏิบัติหน้าที่โดยเพิกเฉยไม่ไยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตรงหน้าอยู่ทุกวันเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ที่รับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แม้นักการเมืองผู้รับผิดชอบจะอ้างว่าเป็นนโยบายรัฐบาลที่ตนมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ทั้งต่อเกษตรกรและรัฐสภาก็ตาม แต่ก็อ้างให้พ้นผิดไปไม่ได้ เพราะการใช้อำนาจที่เห็นได้ชัดแล้วว่ามีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนที่ไม่อาจยกฐานความชอบธรรมใดๆ มากล่าวอ้างได้เลยทั้งสิ้น
๓.ความเสียหายนี้ตกแก่แผ่นดินและราษฎรผู้เสียภาษีเป็นส่วนรวม เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรับผิดติดตัวในครั้งนี้คือรัฐมนตรีทั้งคณะ และข้าราชการระดับสูง ซึ่งเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีอย่างนี้ พระราชบัญญัติความรับผิดฯ และระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ ๘, ๙ และ ๑๐ ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีคือตัว ฯพณฯ เอง มีหน้าที่ต้องสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบความรับผิด” ขึ้นตรวจสอบและรายงานผลต่อท่านโดยมิชักช้า อย่าให้ขาดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐได้รู้ซึ่งการละเมิด มิเช่นนั้นตัว ฯพณฯ เองก็จะตกเป็นผู้ต้องรับผิดแทนบุคคลเหล่านี้
๔.หน้าที่ดำเนินคดีให้ผู้รับผิดชอบต้องชดใช้ความเสียหายนี้ บังเกิดขึ้นแล้วตามกฎหมายนับแต่วันที่ คณะกรรมการได้รายงานความเสียหายให้ ฯพณฯ ได้ทราบ แม้ขณะนี้จะมีการดำเนินคดีในทางอาญาหรือในทางรัฐธรรมนูญใดๆ ต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ตาม หน้าที่นี้ก็ยังคงดำรงอยู่ ยังเร่งรัด ฯพณฯ อยู่ทุกวัน ตามอายุความที่ลดน้อยลงทุกขณะโดยไม่รอข้อยุติในคดีอื่นๆ เลย
๕.หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ทางกฎหมายปกครองที่ตกแก่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ตาม ดังนั้นเมื่อ ฯพณฯ ตัดสินใจมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ในรัฐบาลปัจจุบัน ฯพณฯ ก็ต้องมีหน้าที่นี้เสมอ จะบ่ายเบี่ยงยกเอาฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารมาปฏิเสธหน้าที่ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิได้
ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอย้ำว่าการเรียกร้องครั้งนี้เป็นการเสนอทางวิชาการ ให้ ฯพณฯ ได้ทราบถึงหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินที่มีอยู่ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือความเป็นฝักฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยืนหยัดแต่เพียงว่า อยู่ดีๆ ใครทำอะไรเสียหายก็จะให้ประชาชนเช่นพวกข้าพเจ้าแบกรับไปง่ายๆ นั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งกฎหมายไทยปัจจุบันก็ยืนยันไว้อย่างนี้แล้วเช่นกัน เหลือแต่ตัว ฯพณฯ เองว่าจะรู้และตระหนักถึงหน้าที่นี้หรือไม่เท่านั้น
จึงขอกราบเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป หากมีข้อสอบถามเป็นประการใดข้าพเจ้าก็ยินดีไปพบได้ทุกเวลา.
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายแก้วสรร อติโพธิ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
Search
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง 在 รอบรู้ เรื่อง สช การศึกษาเอกชน - เกร็ดเรื่องการเขียนหนังสือราชการ ... 的推薦與評價
คำขึ้นต้น "กราบเรียน" และคำลงท้าย "ขอแสดงความนับถืออย่างสูง" ใช้กับ ประธานองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษ เท่านั้น . ... <看更多>