พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐ (พระกริ่งเจ้าพระยา ๒)
เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรฯ
มหามงคลสถาปนาในวาระที่ “ดาวเสาร์ (๗)” โคจรยกย้ายราศี จากราศีกรกฎเข้าสู่ราศีสิงห์
ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐
ในวาระมหามงคลโอกาสที่จะได้จัดให้มีการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ ในวาระอันเป็นมงคลแห่งดาวพระเคราะห์ใหญ่โคจรยกย้ายราศี ท่านเจ้าคุณพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรฯ) ท่านจะให้ความสำคัญกับวาระที่เป็นปรากฏการณ์ในทางดาราศาสตร์ตามคัมภีร์สุริยยาตร์ และสัมพันธ์กับเรื่องราวทางโหราศาสตร์ และเนื่องด้วยเจ้าคุณธงชัย (พระพรหมมังคลาจารย์) ท่านเกิดตามวันทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดี และเมื่อผม ลักษณ์ เรขานิเทศ เข้าไปเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดในขณะนั้น ด้วยความเคารพศรัทธาในท่านเจ้าคุณอาจารย์ จึงได้กราบขออนุญาตจัดสร้างพระกริ่ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาสืบอายุพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นมงคลวาระให้ระลึกนึกถึง “ดาวเสาร์ (๗)” โคจรย้ายราศี อันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเทพยดานพเคราะห์องค์ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง
ในปรัชญาทางโหราศาสตร์ตามเทวกำเนิด กล่าวถึง “พระเสาร์” ว่า พระเสาร์เกิดจากการที่พระศิวะหรือพระอิศวร นำเอาเสือ ๑๐ ตัว มาป่นให้เป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีดำหรือสีม่วง ประพรมด้วยน้ำอัมฤทธิ์ชุบชีวิตให้บังเกิดเป็นเทวราชนามว่า “องค์พระเสาร์เทพบุตร” ในปรัชญาทางโหราศาสตร์กล่าวถึงพระเสาร์ว่า “โทษทุกข์ให้ทายเสาร์” ในองค์ความรู้ของความหมาย เทพพระเสาร์อาจจะหมายถึงทุกข์นานาประการ ซึ่งเป็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในหมวดของทุกข์นั้นยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกรรมที่นำมาเกิดของบุคคลและสัตว์ทั้งหลายในโลกมนุษย์ แล้วอาจยังหมายถึงเรื่องของกรรมในปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งจากการกระทำในอดีตและปัจจุบันแสดงผล การแสดงผลก็มักจะเป็นไปในทางที่ทำให้เกิดโทษและทุกข์ ด้วยเหตุของตนแห่งตนที่เคยกระทำไว้ในอดีตถึงปัจจุบันนั่นเอง พระเสาร์จึงไม่ได้เป็นดาวที่ร้ายกาจ แต่เป็นดาวที่สะท้อนเงากรรมของดวงชะตาในบุคคลแต่ละบุคคล ที่ได้เคยกระทำไว้ในอดีตแล้วมาแสดงผลในปัจจุบัน เหตุแห่งทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา ทำให้รู้ต้นเหตุแห่งการเวียนเกิด ซึ่งเป็นไปตามกรรมและวิบาก เข้าใจในสัจธรรม และเข้าใจในหลักที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ พระเสาร์ในปรัชญาของศาสตร์ชั้นสูง จึงแสดงอรรถาธิบายด้วยกถาทั้งหมดทั้งมวลตามที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นนี้
เนื่องด้วยในทางดาราศาสตร์ ตามคัมภีร์สุริยยาตร์ “ดาวเสาร์ (๗)” จะโคจรผ่าน ๑ ราศี ใช้เวลา ๒ ปีครึ่ง แรกเมื่อเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ “ดาวเสาร์ (๗)” สถิตในราศีธนู แล้วหลังจากนั้นถึง ๒ ปีครึ่ง “ดาวเสาร์ (๗)” ท่านจะโคจรในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา เวียนบรรจบมาครบรอบหนึ่งใช้เวลา ๓๐ ปี เพราะในจักรราศีทั้ง ๑๒ ราศีนั้น คือขอบเขตปริมณฑลแห่งเส้นทางโคจรของ “ดาวเสาร์ (๗)” ในรอบปีปัจจุบันขณะนั้น “ดาวเสาร์ (๗)” โคจรอยู่ราศีกรกฎ ครบ ๒ ปีครึ่ง แล้วจะมีการยกย้ายจากราศีกรกฎ เข้าสู่ราศีสิงห์ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ปี ๒๕๕๐ นั่นเอง จึงนับเป็นโอกาสอันสำคัญที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร) ท่านได้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ในวาระที่สำคัญ ๆ อย่างนี้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีดาวนพเคราะห์พระองค์ใหญ่ ๆ โคจรยกย้ายราศี ซึ่งท่านกระทำต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลาย ๑๐ ปี(ในขณะนั้น)และในปีดังกล่าวมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลายประการ กล่าวคือ
1. ในช่วงปีดังกล่าวนั้น เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ของปาฏิหาริย์ในองค์จตุคามรามเทพ เสด็จมาโปรดและเผยแผ่บารมีให้ประชาชนทั้งประเทศได้บังเกิดโชคลาภความสุขอย่างมหัศจรรย์
2. ในปีดังกล่าว เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญบนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องราวทางการเมืองหลาย ๆ อย่าง
3. ในปีดังกล่าว ผม ลักษณ์ เรขานิเทศ ได้มีชื่อเสียงโด่งดังและประสบความสำเร็จในวิชาชีพโหร จึงได้กราบขออนุญาตจัดสร้าง “พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐” หรือสถาปนาต่อมาว่า “พระกริ่งเจ้าพระยา ๒” ซึ่งจะมีเหตุผลในการอธิบายในลำดับต่อไป
4. ในวาระดังกล่าว ผม ลักษณ์ เรขานิเทศ ได้ขอเมตตาจัดสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ พิมพ์เดียวกับที่ท่านเจ้าประคุณพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร) ได้จัดสร้างไว้ในทุกภาคของประเทศไทย ที่ประดิษฐานไว้ในวัดสำคัญ ท่านก็เมตตาอนุญาต และได้เป็นธุระจัดหาในเรื่องของการจัดหาช่างมาประกอบพิธีเททองด้วยตัวของท่านเอง รวมถึงการจัดสร้างและการเททองพระกริ่ง ผมได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณธงชัย โดยท่านเป็นคนกำหนดทั้งแบบพิมพ์พระกริ่งและรายละเอียดของการประกอบพิธีเททองทั้งหมด รวมถึงจัดเตรียมมวลสารที่สำคัญที่ท่านเจ้าคุณธงชัยได้รวบรวมสะสมเอาไว้ ซึ่งผมก็ไม่ได้ทราบเลยว่านายช่างที่จะมาประกอบพิธีเททองเป็นใคร มาทราบภายหลังว่าเป็นนายช่างจากจังหวัดพิษณุโลก และนายช่างจากจังหวัดนครสวรรค์ ทราบต่อมาว่าน่าจะเป็นนายช่างสมชาย ซึ่งเป็นนายช่างคนเดียวกับเพื่อนของผมที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้ใช้คณะนายช่างสมชาย เป็นผู้ที่เททองหล่อพระกริ่ง , หล่อพระชัย หรือหล่อรูปหล่อให้ครูบาอาจารย์ทางสายนครสวรรค์อยู่เป็นระยะ
5. ในปีดังกล่าว มีบุคคลที่ไปมาหาสู่ มากราบนมัสการท่านเจ้าคุณธงชัย โดยเฉพาะผู้มีความชำนาญการในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ผมก็ได้พบปะหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะมีคุณลุงกำพล มาจากเมืองนครศรีธรรมราช ได้จัดหาครุฑโบราณอายุนับเป็นพันปี เป็นเนื้อสำริด องค์ไม่ใหญ่มาก ท่านเจ้าคุณธงชัยบอกให้ผมได้บูชาเอาไว้ เพื่อเป็นมงคลศรัทธา แล้วท่านก็ได้เล่าเรื่องราวของพญาครุฑในตำนานแห่งการก่อกำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหัวใจของครุฑ คือความรัก ความกตัญญูที่มีต่อมารดามากสุดนับประมาณ ผมก็ได้ครุฑโบราณองค์ดังกล่าวมาบูชาสักการะเป็นองค์แรก ที่นับว่าเป็นมงคล
นี่เป็นปรากฏการณ์หรือเรื่องราวที่พอจะบันทึกไว้ได้ในขณะนั้น ซึ่งเป็นความทรงจำผ่านระยะเวลามาเกิน ๑๐ ปี ถ้านับถึงปีที่เขียนบทความนี้ในราวปีพุทธศักราช ๒๕๖๑
ในเรื่องของชนวนมวลสารที่สำคัญ ของการจัดสร้าง “พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐” (เจ้าพระยา ๒) เบื้องต้นท่านเจ้าคุณธงชัยได้รวบรวมชนวนมวลสารเก่า ๆ เป็นจำนวนมาก ที่ท่านได้สะสมเอาไว้ในรอบหลาย ๑๐ ปี ผมได้จัดนำชนวนมวลสารที่ได้รับมอบจากประชาชน เพราะในห้วงเวลานั้นผมได้จัดสร้างองค์จตุคามรามเทพ และมีส่วนหนึ่งที่จะนำไปแจกทหาร ตำรวจ ประกาศบอกบุญให้สาธุชนทั่วประเทศร่วมบุญสร้างผ่านสื่อต่าง ๆ มีประชาชนส่งชนวนมวลสารมามากมาย นับเป็นพันรายการ โดยเฉพาะชนวนมวลสารโลหะ จึงได้นำเอามาหลอมแล้วจะได้มาร่วมพิธีในการเททองในครั้งนี้ ประกอบกับ ผมได้จัดเตรียมทองคำบริสุทธิ์อันได้แก่ทองคำน้ำหนักประมาณ ๑๐ บาท ซึ่งเป็นกำลังของพระเสาร์เทพบุตร ได้จัดเตรียมเงินบริสุทธิ์ จัดเตรียมมงคลที่ผมบูชาสักการะส่วนตัวหลายอย่าง เช่น แหวนพญานาคราชทองคำ , กำไลพญานาคราชทองคำ , สร้อยคอทองคำที่ใช้ประจำตัว แล้วได้สละเพื่อนำมาจัดสร้าง , เหรียญเทวดานพเคราะห์เนื้อเงิน ๙ พระองค์ , เหรียญพระนเรศวร รุ่น สู้ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และชนวนมวลสารบางส่วนที่ได้รับมอบจากคุณสมร รัชนธรรม นายช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นนายช่างประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่สำคัญ มีชนวนมวลสารที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แผ่นผ้ายันต์อันศักดิ์สิทธิ์ 108 นะ 14 ที่ท่านเจ้าคุณธงชัยได้รวบรวมชุดผ้ายันต์ต่าง ๆ ที่ อ.เทพย์ สาริกบุตร ได้เคยจัดลงผ้ายันต์ไว้ส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่ง อ.ถนอม ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ได้มามอบให้ท่านเจ้าคุณธงชัย เพื่อหลอมเป็นมหามงคลในการจัดสร้าง “พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐” (เจ้าพระยา ๒) และพระพุทธรูปนาคปรก
ตลอดจนผมได้ทราบภายหลังจากเพื่อนที่เคยใช้คณะนายช่างที่มาประกอบพิธีเททองในครั้งนี้ ว่าก่อนหน้าที่จะมีการเททองหล่อ “พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐” (เจ้าพระยา ๒) คณะนายช่างได้ไปจัดพิธีเททองหล่อพระให้ อ.ไพรินทร์ แห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.ไพรินทร์ได้นำเอาเหวัชระ ยอดปราสาทของเก่า ตลอดจนได้นำเอาผ้ายันต์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อครั้ง อ.เทพย์ สาริกบุตร ยังมีชีวิตอยู่ ไปเข้าพิธีหลอมเพื่อหล่อพระในวาระนั้น ชนวนที่เหลือนายช่างสมชายได้นำมาเป็นชนวนมวลสารที่จัดหลอมโลหะรวมกับชนวนมวลสารต่าง ๆ ในพิธีเททองในครั้งนี้ด้วย
จึงนับได้ว่ามีชนวนมวลสารโลหะศักดิ์สิทธิ์ของเก่าที่ผ่านมากาลเวลามาร่วมหลอม เพื่อเป็นเนื้อโลหะในการหล่อพระกริ่งและพระเสาร์นาคปรกเป็นจำนวนมาก เพราะในครั้งนั้นต้องใช้น้ำทองที่หล่อเฉพาะองค์พระเสาร์นาคปรก น่าจะ ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัม และใช้ในการหล่อพระกริ่งน่าจะอีกประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม จึงต้องบันทึกเรื่องราวในความเป็นมงคลนี้ ไว้เป็นความทรงจำสำหรับคนในยุคหลังที่จะได้รับรู้และรับทราบ อนุโมทนา และเกิดความชื่นชมยินดีเมื่อได้บูชาครอบครองพระกริ่งในชุดนี้
สิ่งที่ต้องบันทึกไว้อีกประการหนึ่งคือ ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม วันที่มีพิธีการเททองหล่อ “พระกริ่งพระเสาร์ ๕๐” (เจ้าพระยา ๒) มีบุคคลที่มาร่วมพิธีเททองพร้อมทั้งพิธีเจริญพุทธมนต์ต่อเนื่องกันนั้น ได้แก่ คุณยุวรัตน์ กมลเวชช , คุณวิชุดา ไตรธรรม , นายทหาร นายตำรวจที่เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณธงชัย ตลอดจนมีดารานักแสดงหลายท่าน เช่น คุณดามพ์ ดัสกร , คุณจตุพล ชมภูนิช , ข้าราชการอีกหลาย ๆ ท่าน ตลอดจนมีเซียนพระผู้ใหญ่ อย่างเช่น พี่วันชัย สุพรรณ และประชาชนมาร่วมพิธีเททองและพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์อีกเป็นจำนวนมาก
ส่วนหนึ่งของบันทึกความ ประวัติการสร้างสถาปนาพระกริ่ง วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ลักษณ์ เรขานิเทศ
Search
พระเสาร์ 5 คือ 在 เสาร์ห้าอาถรรพ์ ที่สุดแห่งฤกษ์ปลุกเสกวัตถุมงคลด้านคงกระพัน โดย ... 的推薦與評價
เสาร์ ห้าต้องตามตำรา ที่เรียกว่า เสาร์ ห้า นั้น คือ วัน เสาร์ ขึ้นหรือแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวัน เสาร์ ห้านั้น ประมาณ ๒-๓ ปีครั้ง ... ... <看更多>