องค์ของรัฐฝ่ายบริหาร
รศ.สิทธิกร ศักดิ์แสง
ฝ่ายบริหารหรือองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและตามนโยบายที่ได้แถลงไว้กับประชาชน อย่างไรก็ตามถ้าหากปราศจากกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารแล้ว ฝ่ายบริหารจะไม่สามารถกระทำได้และการกระทำของฝ่ายบริหารต้องมีองค์กรต่างๆมาควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเป็นไปตามหลักการปกครองแบบนิติรัฐ (Legal State) ที่ยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law)
1.หลักทั่วไปของฝ่ายบริหาร
ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ในแต่ละประเทศจะมีที่มา อำนาจหน้าที่และการควบคุมฝ่ายบริหารแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและปัจจัยอื่นๆ แต่โดยหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารนั้นมาจากประชาชน โดยที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกตัวแทนในการบริหารประเทศของตนตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ดังนี้
1.1 ประมุขของรัฐ
ประมุขของรัฐ (Head of State) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นฐานะใหญ่ๆ คือ ประมุขของรัฐที่มีฐาเป็นพระมหากษัตริย์กับประมุขของรัฐที่มีฐานะเป็นประธานาธิบดี (เป็นบุคคลธรรมดา) อาจเป็นประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะเป็นประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียวหรือเป็นประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะทั้งเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนี้
1.1.1 ประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์
ประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้และมีการเรียกชื่อต่างๆกัน ตามคติแต่ละชาติ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ (King) เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศสวีเดน เป็นต้น จักรพรรดิ (Emperor) เช่น ประเทศญี่ปุ่น เจ้าชาย เช่น ประเทศโมนาโค เป็นต้น
ประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์จำแนกออกไปได้ตามพระราชอำนาจและราชฐานะ 2 ประเภท ดังนี้
1.พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ พระมหากษัตริย์มีอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลย์เซีย เป็นต้น
2.พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในลักษณะของการปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่พระมหากษัตริย์ เช่น ประเทศสวาซิแลนด์ ประเทศบรูไนส์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
1.1.2 ประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี
ประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1.ประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐและเป็นประมุขของฝ่ายบริหารในเวลาเดียวกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเม็กซิโก ประเทศอาเจนตินา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
2.ประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นประมุขของฝ่ายบริหารในเวลาเดียวกัน เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเยอรมนี เป็นต้น
3.ประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐร่วมกันบริหารราชการแผ่นดินกับคณะรัฐมนตรี เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น
1.2 หัวหน้าฝ่ายบริหาร
เมื่อศึกษาถึงที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือหัวหน้ารัฐบาล (Head of Government) อำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ อาจแบ่งระบบการปกครองออกเป็น 4 ประเภท คือ การปกครองในระบบประธานาธิบดี การปกครองในระบบรัฐสภา และการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี และการปกครองในระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา ดังนี้
1.2.1 หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบบรัฐสภา
ในการปกครองระบบรัฐสภาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารจำเป็นต้องมีบุคคลคณะหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในการตัดสินในการบริหารประเทศ เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” (Cabinet) เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศอิตาลี ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
1.2.2 หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบบประธานาธิบดี
ในการปกครองระบบประธานาธิบดีโดยเฉพาะมีประมุขของรัฐเป็นคนเดียวกันกับหัวหน้าฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ระบบรัฐบาลดังกล่าวส่วนใหญ่มีใช้อยู่ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอาร์เจนตินา ประเทศบราซิล ประเทศโคลัมเบีย ประเทศเม็กซิโก เป็นต้น
1.2.3 หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี
ในการปกครองระบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ระบบรัฐบาลดังกล่าวมีใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส
1.2.4 หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา
ในการปกครองในระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา เป็นระบบรัฐบาลที่ประชาชนจะเป็นผู้เลือกสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ (สมาชิกรัฐสภา) ต่อจากนั้นฝ่ายนิติบัญญัติเลือกสรรบุคคลเป็นคณะผู้บริหาร 7 คนและใน 7 คนนั้นเลือกกันเองเป็นประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ระบบรัฐบาลดังกล่าวมีใช้ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
1.3 คณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรี (Cabinet) หมายถึง คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่บริหารหรือปกครองประเทศที่ เรียกว่า “รัฐบาล” (Government) ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อย การอำนายการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เป็นต้น คณะรัฐมนตรีในการปกครองในระบบรัฐบาลสามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1.3.1 คณะรัฐมนตรีในการปกครองระบบรัฐสภา
คณะรัฐมนตรีในการปกครองระบบรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จำเป็นต้องมีบุคคลคณะหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในการตัดสินในการบริหารประเทศ เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี”บุคคลในคณะรัฐมนตรีจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงและทบวงต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการในกระทรวงนั้นๆ มี 2 ประเภท คือ
1. ความรับผิดชอบร่วมกัน คือ ความรับผิดชอบทั้งคณะ กับ
2. ความรับผิดชอบส่วนตัว คือ ความรับผิดชอบเป็นรายบุคคล เป็นต้น
1.3.2 คณะรัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดี
คณะรัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ในระบบนี้มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาภายหลังจากได้รับตำแหน่งแล้ว คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือประธานาธิบดี รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของระบบประธานาธิบดีจะมีความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละกระทรวง เป็นต้น
1.3.3 คณะรัฐมนตรีในระบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี
คณะรัฐมนตรีในระบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี เป็นระบบที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นผู้ให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอใบลาออกจากคณะรัฐบาลและแต่งตั้งรัฐมนตรีร่วมกันเป็นฝายบริหารและให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามคำเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี โดยที่มีประธานาธิบดีเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
1.3.4 คณะรัฐมนตรีในระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา
คณะรัฐมนตรีในระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา คณะรัฐมนตรีแบบนี้ ถือกำเนิดมาจากหลักที่ว่ารัฐสภาเป็นองค์กรเดียวที่เป็นผู้แทนของประชาชน จึงมีอำนาจในการทำกิจการต่างๆแทนประชาชน รัฐสภาจะเลือกรัฐมนตรีประมาณ 7 คน และเลือกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นประธานาธิบดี เป็นต้น
ข้อสังเกต คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินและทางการเมืองดังนี้
1. ความสำคัญในทางกฎหมาย คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างกว้าง ภารกิจสำคัญของคณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหารก็คือ การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน
2. ความสำคัญในทางการเมือง คณะรัฐมนตรีเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการการเมืองไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ในการทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีกลไกและบุคลากรของตนเองซึ่งสามารถทำการผูกพันประเทศต่างๆได้ เช่น โดยผ่านบุคคลในคณะทูต กงสุล ผู้แทนพิเศษของรัฐ ในการปกครองภายในก็เป็นผู้ใช้อำนาจทางบริหารในการบริหารราชการแผ่นดินและสามารถปฏิบัติงานประจำวันได้ทุกเวลา สม่ำเสมอต่อเนื่องและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่ารัฐสภาหรือศาล
3. ความสำคัญในทางอำนาจ คณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจในทางกฎหมายและการเมืองนั้นเกิดอำนาจมากมาย สามารถกำหนดนโยบายซึ่งอาจทำให้ประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงก็ได้ สามารถควบคุมบังคับบัญชาข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่นๆของรัฐ
ด้วยความสำคัญดังนี้เองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจึงเป็นที่ปรารถนาของนักการเมืองทั่วไป ทั้งยังเป็นตำแหน่งหน้าที่เกียรติยศและมีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือ แปลงอุดมการณ์หรือปรัชญาให้เป็นจริง ตลอดจนมีช่องทางอื่นๆทั้งที่สุจริตและไม่สุจริตในแสวงหาประโยชน์ในทางการเมือง
1.4 รัฐมนตรี
รัฐมนตรีในระบบการปกครองต่างๆ คือ การปกครองในระบบประธานาธิบดีหรือระบบรัฐสภา หรือระบบกึ่งรัฐสภากึ่ง-ประธานาธิบดีหรือระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภา จะประกอบด้วยหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีรัฐมนตรีประจำแต่ละกระทรวงในการช่วยเหลือหัวหน้าฝ่ายบริหารที่อาจเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ในการบริหารราชการตามระบบรัฐบาลของแต่ละประเทศ
2.ที่มาของฝ่ายบริหารของประเทศไทย
ที่มาของฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้แบ่งฝ่ายบริหารออกเป็น 2 ระดับ คือ “ฝ่ายการเมือง” (Political Affairs) กับ “ฝ่ายประจำ” ที่เรียกว่า “องค์กรฝ่ายปกครอง” (Administration) แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงที่มาฝ่ายบริหารในฐานะฝ่ายการเมืองที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการกำหนดนโยบายของรัฐหรือเรียกว่า “การกระทำทางบริหาร” (Ministerial Act) หรือ เป็น “การกระทางรัฐบาล” (Act Government)ในการบริหารราชการแผ่นดิน นั้นแยกพิจารณาถึงฝ่ายบริหารของประเทศไทย ประกอบด้วย ประมุขของรัฐซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดังนี้
2.1 พระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีประมุขของรัฐ (Head of State) ที่เป็นพระมหากษัตริย์ (King) โดยการสืบราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2476 พระมหากษัตริย์อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติประมุขของรัฐของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันประมุขของรัฐเป็นชาย มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ข้อสังเกต พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย มิได้เกิดจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยมาตั้งแต่เดิม ดังนี้
1. เกิดจากความเชื่อที่สำคัญของคนไทย เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงประกอบด้วย “พระปุพเพกตปุญญตา ซึ่งแปลว่า ทรงทำความดีมาอย่างวิเศษกว่าคนอื่นๆในชาติปางก่อน” จึงทรงประสูติมาอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าคนอื่นๆ เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็มีพระราชปณิธานที่จะประกอบคุณงานความดีด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรและทำนุบำรุงพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ของคนไทยจึงเป็นพระธรรมราชาหรือพระธรรมิกราชาในสายคนไทย
2. เกิดจากความผูกพันของคนไทย ความผูกพันของพระมหากษัตริย์กับประชาชนคนไทยมมิได้ผูกพันในฐานะผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองอย่างทฤษฎีทางการเมืองตะวันตก แต่เป็นการผูกพันจากหัวจิตหัวใจที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์ด้วยความรักความเมตตา มิได้เป็นไปโดยข้อสัญญาที่มาจากการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นไปตามธรรมนิติที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงยึดถือปฏิบัติมาตลอดว่า “...ผู้ปกครองบ้านเมืองพึงเอาใจใส่ดูแลประชาชน ทำนองเดียวกับ แม่เฒ่า แม่ปลาแม่ไก่และแม่โคเลี้ยงดูลูกของมันฉันนั้น”
2.2 นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร
นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารในการบริหารปกครองระบบรัฐสภาที่คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินโดยความวางไว้วางใจและความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองและการปกครอง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับโดยทั่วไป การบริหารราชการแผ่นดินและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั่วไป ฯลฯ
2.3 คณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้มี คณะรัฐมนตรี (Cabinet) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คนและคณะรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คนเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรัฐมนตรีจะมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่มาจากสมาชิกวุฒิสภา
2.4 รัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนหรืออาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่จะนำเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม คือ ไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ หรือเรียกว่า “การบริหารราชการแผ่นดิน” และเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (Minister) แล้วจะเป็นสมาชิกรัฐสภาในเวลาเดียวกันก็ได้ และที่สำคัญก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วย
3. การกระทำของฝ่ายบริหารของประเทศไทย
ในประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภาของประเทศไทยนั้นการกระทำของฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้นจำต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และองค์พระมหากษัตริย์ในขณะเดียวกัน ซึ่งเราเรียกว่า “ระบบรัฐสภาแบบอำนาจคู่” (dualist) การกระทำของรัฐฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กล่าวถึงการกระทำของรัฐบาลหรือการกระทำของฝ่ายบริหารซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสองส่วน คือ
3.1 การกระทำของฝ่ายบริหารในฐานะประมุขของรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์
การกระทำพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหารสามารถแยกพิจารณาจากอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือ การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะกับการกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามแบบพิธี ดังนี้
3.1.1 การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงพระราชอำนาจในการตัดสินใจของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชวินิจฉัยโดยหากเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์สามารถมีพระราชดำริขึ้นเองได้และสามารถตัดสินพระทัยไปได้โดยพระราชอัธยาศัยแล้วก็ดี ก็ให้ถือว่าเป็นกรณีที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะทั้งสิ้น แยกอธิบายได้ดังนี้
3.1.1.1 การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ และสามารถกระทำได้โดยง่าย กล่าวคือ ให้เป็นไปตามพระราชดำริของพระมหากษัตริย์โดยองคมนตรีเป็นผู้จัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลฯขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงปรมาภิไธย แล้วจึงส่งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งเพื่อทราบ
ข้อสังเกต รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลฯแต่ประการใด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ากระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลฯ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นเรื่องพระราชอำนาจส่วนพระองค์และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรใดทั้งสิ้น
3.1.1.2 การยับยั้งร่างกฎหมาย
การใช้พระราชอำนาจของพระองค์เองโดยแท้ คือ การใช้พระราชอำนาจในอันที่จะ ยับยั้ง (VETO) ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว โดยเมื่อรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งแล้ว ประธานรัฐสภาจะต้องส่งร่างกฎหมายนั้นให้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายและเมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์
3.1.1.3 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีและการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
คณะองคมนตรี หมายถึง คณะผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย โดยในอดีตเคยใช้ชื่อ ปรีวีเคาน์ซิล (สภาที่ปรึกษาในพระองค์) ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็ ได้นำมาบัญญัติในเรื่องการแต่งตั้งองคมนตรีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งตามอัธยาศัยตามมาตรา 12 และ 13
3.1.1.4 การแต่งตั้งและให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 17 กำหนดให้เป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและให้พ้นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์และสมุหราชองครักษ์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เนื่องจากการแต่งตั้งและให้พ้นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในพระองค์และสมุห ราชองครักษ์นั้นเป็นกิจการภายในพระราชฐาน จึงเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์มีความไว้วางใจพระราชหฤทัยให้มาประจำหน้าที่
3.1.1.5 การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ผู้สำเร็จราชการ (Regent) หมายถึง ผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยหรือในพระนามาภิไธยพระมหากษัตริย์ โดยทั่วไปมีสาเหตุมาจากการที่พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ ทรงประชวร หรือทรงอยู่ในต่างประเทศ จึงต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมาเพื่อดำเนินการบริหารราชแผ่นดินแทนพระมหากษัตริย์
3.1.2 การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามแบบพิธี
การกระทำที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามแบบพิธี เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เกิดจากการมีพระราชดำริขึ้นเองหรือเป็นเรื่องที่พระองค์จะใช้พระราชอำนาจตามอัธยาศัยได้โดยตลอดเพราะจำเป็นต้องมีบุคคลใดเป็นผู้เสนอเรื่องขึ้นเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจดังกล่าวเสียก่อนและจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบทางการเมืองแทนพระองค์ด้วย จึงจะเป็นการใช้พระราชอำนาจที่มีผลในทางกฎหมาย ดังนี้
3.1.2.1 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของการปกครองในระบบรัฐสภาของไทยมีนายกรัฐมนตรี (Prime Minister) ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ จะเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
3.1.2.2 การแต่งตั้งรัฐมนตรีและการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนหรืออาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่จะนำเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม
3.1.2.3 การแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า พ้นตำแหน่งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทรงแต่งตั้งและให้ข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า พ้นตำแหน่งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่าถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญของข้าราชการในแต่ฝ่าย ซึ่งถือเป็นมือไม้ให้กับคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
3.2 การกระทำของฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี
ฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีกับการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดนโยบายและวางแนวทางในการปกครองประเทศ ซึ่งมีฐานะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีกระทำร่วมกัน มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารกระทำการตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนและตรงตามนโยบายที่ได้แถลงไว้กับฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองหรือการกระทำทางการเมือง ซึ่งเรียกว่า "ฝ่ายการเมือง" คือ คณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) ซึ่งใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดนโยบายที่เรียกว่า “การกระทำทางรัฐบาล” หรือ เรียกว่า “การกระทำทางการเมือง” และการกำกับดูแลการนำนโยบายสู่การปฏิบัติโดย “ฝ่ายประจำ” หรือเรียกว่า “ฝ่ายปกครอง” แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงการกระทำของรัฐฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลหรือในฐานะคณะรัฐมนตรีที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เท่านั้น ดังนี้
3.2.1 การกำหนดนโยบายในการปกครอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ว่าก่อนที่ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล) จะเข้ารับหน้าที่ ต้องมีการแถลงนโยบายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ก็ต้องกำหนดนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของรัฐบาล ของกระทรวง และของรัฐมนตรีแต่ละคน ต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ก่อนจึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ นโยบายที่รัฐบาลนำเสนออาจเป็น
1.นโยบายทั่วไปในการจัดการปกครองภายในประเทศ เช่น การปฏิรูประบบราชการ การแก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น
2.นโยบายเกี่ยวกับการต่างประเทศ เช่น การมีความสัมพันธไมตรีและการค้ากับต่างประเทศ การทำสนธิสัญญา เป็นต้น
3.2.2 การกำกับดูแลนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยฝ่ายปกครอง
การกำกับดูแลนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยฝ่ายประจำหรือฝ่ายปกครอง เมื่อกำหนดแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจดำเนินการหรือปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ คือ การกำกับดูแล การนำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยฝ่ายประจำหรืออาจเรียกว่า “ฝ่ายปกครอง” คณะรัฐมนตรีมีอำนาจดังนี้
1.ออกกฎหมายบางประเภทได้ คือ ออกฎหมายระดับกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ เป็นต้น
2.แต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนให้คุณให้โทษข้าราชการ ฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ในระดับตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า เป็นต้น
3.2.3 การเสนอร่างกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1. ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2.ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเสนอร่างกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ คือ เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ
3.2.4. การออกกฎหมายและประกาศใช้กฎอัยการศึก
โดยหลักการแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติมาบังคับใช้แก่ประชาชนและให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้นำกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกมาบังคับใช้กฎหมาย เมื่อฝ่ายบริหารนำกฎหมายมาใช้บังคับแก่ประชาชน ฝ่ายบริหารจะประสบอุปสรรคบางประการเช่น ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ฝ่ายบริหารจะขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขกฎหมาย ก็อาจจะเป็นการเสียเวลาเพราะฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีการประชุมตลอดปีและถ้ารอคอยฝ่ายนิติบัญญัติแล้วประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นหรือบางกรณีถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงจากภายนอกประเทศ ฝ่ายบริหารจะต้องสามารถดำเนินการได้โดยฉับพลันทันท่วงที รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ คือ พระราชกำหนด ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกฤษฎีกาได้และให้อำนาจฝ่ายบริหารประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นดังนี้
3.3.4.1 การตราพระราชกำหนด
การตราพระราชกำหนด (Royal Act) หมายถึง กฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอาศัย พระราชอำนาจที่รัฐธรรมนูญถวายแก่พระองค์ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีและมีค่าบังคับเช่นพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารตราพระราชกำหนดได้ 2 กรณี เท่านั้น คือ
1. กรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ (ความมั่นคงของรัฐ) หรือความปลอดภัยสาธารณะ (การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน) หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องภัยพิบัติสาธารณะ
2.กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนหรือลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
แต่อย่างไรก็ตามพระราชกำหนดที่ประกาศใช้แล้วเมื่อถึงสมัยประชุมสภานิติบัญญัติจะต้องนำพระราชกำหนดที่ประกาศใช้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติผ่านพิจารณาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจะกลายเป็นพระราชบัญญัติทันที แต่ถ้าพระราชกำหนดนั้นไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นจะตกไป
3.2.4.2 การตราพระราชกฤษฎีกา
การตราพระราชกฤษฎีกา (Royal Decree) ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจบริหารโดยพระมหากษัตริย์ตามที่คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ซึ่งการตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องที่ไม่เกินอำนาจของฝ่ายบริหารหรือเกินกว่าอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้
ข้อสังเกต พระราชกฤษฎีกามีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเป็นพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดระเบียบการบริหารราชการหรือแบบพิธีบางอย่าง เช่น การออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาใหม่การออกพระราชกฤษฎีกาในกรณียุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่การออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเรียกประชุมขยายเวลาประชุมและปิดประชุมรัฐสภา เป็นต้น หรือการออกพระราชกฤษฎีกาในเรื่องที่สำคัญบางเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การออกพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนกระทรวง ทบวงกรม เป็นต้น
2. พระราชกฤษีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสหการซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นต้น
3.2.4.3 การประกาศใช้กฎอัยการศึก
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และยกเลิกกฎอัยการศึกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 เป็นมาตรการที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร คือ ฝ่ายทหารในการักษาเอกราช ความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เมื่อฝ่ายทหารจะได้ดำเนินการได้อย่างเฉียบขาด รวดเร็ว ตลอดจนการดำเนินคดีในศาล การประกาศใช้กฎอัยการศึกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 มีอยู่ 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีเมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร เป้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะประกาศพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกมาตรหรือบางมาตรา ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขการบังคับใช้ในส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในราชอาณาจักร
2. กรณีเมื่อสงคราม
3. กรณีเมื่อมีจลาจล
การประกาศใช้กฎอัยการศึกในกรณีที่ 2 และที่ 3 นั้นผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของทหารนั้น แล้วต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด
ซึ่งในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่หากนอกเขตใช้กฎอัยการศึกหรือในเรื่องอื่นอันไม่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฝ่ายทหารจะไม่มีอำนาจดังกล่าวเหนือพลเรือน
3.2.5 การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญโดยนายกรัฐมนตรี
หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไปและให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 150 หรือแล้วแต่กรณีไป
3.2.6 การยุบสภา
การยุบสภา (Dissolution of Parliament) หมายถึง การที่ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของฝ่ายบริหารประกาศให้สมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกันก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาหัวหน้าฝ่ายบริหารได้แก่ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำและลงนามสนองบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาทุกครั้ง การยุบสภาจึงเป็นวิธีการที่ฝ่ายบริหารใช้ในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติใหม่
3.2.6.1 วัตถุประสงค์ของการยุบสภา
วัตถุประสงค์ของการยุบสภา คือ เป็นการหาทางออกของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ตามวิถีทางประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การยุบสภาผู้แทนราษฎรก็เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ต่อประชาชน โดยให้ประชาชนตัดสินว่า ข้อขัดแย้งที่มีอยู่นั้นใครเป็นฝ่ายถูก
3.2.6.2 หลักการสำคัญของการยุบสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้วางหลักการสำคัญในกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้ดังนี้
1. การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้นจะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
2. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมมีผลเป็นการยุบสภาทันที ในการนี้ย่อมต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
3. การยุบสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน หมายถึง หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง มิอาจอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนได้
4. การยุบสภาผู้แทนราษฎรกระทำลงก่อนครบวาระของสภา คือ สามารถกระทำในเวลาใดก็ได้ ในช่วงก่อนสภามีวาระครบ 4 ปี แม้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีกรณีการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว ย่อมไม่สามารถยุบสภาได้
5. การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ส่วนสมาชิกภาพของวุฒิสภาหาได้สิ้นสุดลงจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ ดังนั้นยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
1) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล การแต่งตั้งรัชทายาท การให้ความเห็นชอบประกาศสงคราม เป็นต้น
2) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
3) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
3.2.6.3 ผลทางกฎหมายที่เกิดจากการยุบสภา
เมื่อมีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรผลทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่เกิดจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลดังนี้
1. ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งทันที จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้
2. ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งหรือคณะรัฐมนตรีอยู่ตำแหน่งไม่ได้ แต่คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่
3.2.7 การกระทำอื่นๆที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
การกระทำอื่นๆที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา การทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นๆกับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น
4. การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารของประเทศไทย
การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารนั้นสามารถแยกการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารอาจแยกการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหาร ได้ 2 ลักษณะ คือ การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญ กับการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารตามกฎหมายปกครอง แต่ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึงการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดังนี้
4.1 การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี
วัตถุประสงค์ในการกำหนดบทบาทของอำนาจต่างๆในระบอบประชาธิปไตยนั้นก็เพื่อที่จะให้อำนาจแต่ละอำนาจนั้นเกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกันหรือไม่ให้อำนาจนั้นมีอำนาจมากเกินไป เพราะหากมีการใช้อำนาจที่เกินความพอดีหรือเกินขอบเขต จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ประชาชน จึงต้องมีการควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหาร คือ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ
4.1.1 การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติสามารถควบคุมการกระทำได้ดังต่อไปนี้
1. การแถลงนโยบายต่อฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา เป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน เป็นการแถลงนโยบายให้สมาชิกรัฐสภา (สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ) ทราบว่ารัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) มีนโยบายอย่างไรในการที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะได้รับความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาด้วย และคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเสนอต่อรัฐสภาปีละ 1 ครั้ง และคณะรัฐมนตรีจะต้องจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวนโยบายในการปฏิบัติราชการในแต่ละปี โดยจำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. การตั้งกระทู้ถาม เป็นการตั้งคำถามให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นตอบ คือ
1) การตั้งกระทู้ถามเป็นการตั้งกระทู้ที่ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีเวลาตอบโดยจะต้องตอบในที่ประชุมสภาหรือตอบในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคง รัฐมนตรีจะไม่ตอบกระทู้ถามก็ได้
2) การตั้งกระทู้ถามสดเป็นการตั้งกระทู้ถามสดที่ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตอบในวันนั้น แต่ต้องไม่เกิน วันละ 3 กระทู้
3.การใช้กลไกคณะกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อกระทำกิจการพิจารณาตรวจสอบหรือศึกษาเรื่องใดๆอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภา
4.การเสนอญัตติเปิดอภิปรายโดยลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารรายบุคคลหรือทั้งคณะ
5.การเปิดอภิปรายโดยไม่มีการลงมติไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่ามีอยู่ของวุฒิสภา
6.การอนุมัติพระราชกำหนดของฝ่ายนิติบัญญัติ หลังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร เมื่อมีการประชุมรัฐสภาฝ่ายบริหารต้องนำพระราชกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนด
7.การให้เห็นชอบในการทำสนธิสัญญา การประกาศสงคราม เป็นต้น
4.1.2 การควบคุมการกระทำของฝ่ายบริหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารในการออกพระราชกำหนด เปิดช่องให้การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กำหนดว่าก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติ พระราชกำหนดที่เกี่ยวกับ ประโยชน์อันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องภัยพิบัติสาธารณะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่ามีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ให้ประธานสภานำพระราชกำหนดดังกล่าวนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด หรือไม่
4.2 การตรวจสอบทรัพย์สินของฝ่ายบริหาร
การควบคุมการตรวจสอบทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นการควบคุมให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีหน้าที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และให้รวมถึงทรัพย์ทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง พร้อมเอกสารประกอบซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์ดังกล่าวให้ยื่นภายในกำหนดดังต่อไปนี้
4.2.1 ในกรณีที่เข้ารับตำแหน่ง
การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงในกรณีที่เป็นการเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการเมืองอื่น
4.2.2 ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่ง
การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงในกรณีที่เป็นการพ้นจากตำแหน่ง ให้ยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการเมืองอื่น
4.2.3 ในกรณีตายในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังพ้นตำแหน่ง
ในกรณีตายในระหว่างดำตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังพ้นตำแหน่ง ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ที่มีอยู่จริงในวันที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นตายภายใน 90 วัน ที่พ้นตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
4.3 การควบคุมการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของฝ่ายบริหาร
การควบคุมการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่อาจเป็นเหตุให้มีการถอดถอนและมีการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งการกระทำที่ถือว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ดังนี้
4.3.1 การกระทำที่ถือว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
การควบคุมการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนี้
1.ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น
2.ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
3.ไม่รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดๆจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ วิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆในธุรกิจงานตามปกติ
4.ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้าม คือ ห้ามเป็นเจ้าของกิจการหรือหุ้นส่วนในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามตนเองหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการ
5.ข้อห้ามการกระทำตาม ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ให้ใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่คู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีนั้น ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ผู้ร่วมดำเนินการหรือผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีให้กระทำการ
4.3.2 การเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยทางตรงหรือทางอ้อม
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องดังต่อไปนี้
1. การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชการส่วนท้องถิ่น
2. การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
3. การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง
แต่อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สามารถกระทำการ ข้อ1. ข้อ2.และ ข้อ3.ได้ในกรณีเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
4.3.3 การเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัท
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไปให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ
4.4 การถอดถอนฝ่ายบริหารออกจากตำแหน่ง
การถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี สามารถแยกพิจารณาในเข้าชื่อร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ได้ดังนี้
4.4.1 การเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ให้มีการถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ผู้ใดมีพฤติกรรม ส่อไปในทางร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อไปในทางกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนทำรายงานมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาให้พ้นจากตำแหน่ง
4.4.2 การเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาโดยประชาชน
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 20,000 คนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้มีการถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ในกรณีที่ส่อไปในทางร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อไปในทางกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนทำรายงานมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาให้พ้นจากตำแหน่ง
4.5 การดำเนินคดีต่อฝ่ายบริหาร
การดำเนินคดีต่อฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นั้นอาจแยกได้ 3 กรณี คือ การดำเนินคดีอาญาในกรณีถูกยื่นถอดถอน กรณีดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางกรเมืองและกรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์และหนี้สินหรือยื่นทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ดังนี้
4.5.1 การดำเนินคดีอาญาในกรณีถูกยื่นถอดถอน
เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมดเท่ามีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน เข้าชื่อเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ให้วุฒิสภาถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ใดมีพฤติกรรมส่อไปในทางร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อไปในทางกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนทำรายงานมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
4.5.2 การดำเนินคดีอาญาในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การดำเนินคดีอาญาในกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ายื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วจะยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้ เว้นแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับหรือดำเนินการไต่สวนล่าช้าหรือดำเนินการไต่สวนแล้วไม่มีมูลความผิด
4.5.3 การดำเนินคดีอาญากรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือยื่นทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป
หนังสือและเอกสารอ่านประกอบเพิ่มเติม
บรรเจิด สิงคเนติ “การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” รวมบทความกฎหมายมหาชน
จาก เว็บไซด์ www.pub-law.net กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ,2543
วิษณุ เครืองาม “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ, 2530
สิทธิกร ศักดิ์แสง “หลักกฎหมายมหาชน” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม,2554
วิสาหกิจ คือ 在 วิสาหกิจชุมชน กับ SMEs... - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - Facebook 的推薦與評價
คือ จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มี พรบ. ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รองรับ แต่ในความหมายของหน่วยงานอื่นจะไปทางกิจกา รธุรกิจต่างๆ น่าจะเอาขนาดกิจการมา ... ... <看更多>
วิสาหกิจ คือ 在 บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (PTTSE) - GPSC 的推薦與評價
บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (PTTSE) จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ของ กลุ่ม ปตท. ... <看更多>
วิสาหกิจ คือ 在 วิสาหกิจชุมชน คือ? - YouTube 的推薦與評價
คือ กิจการของชุมชน เกี่ยวกับการผลิตสินค้า/ให้บริการ หรือการอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ และการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน. ... <看更多>