ช่วงนี้หลายคนน่าจะสมัคร HBO GO เพื่อดู Justice League เวอร์ชั่นแซ็ค สไนเดอร์ กัน แต่ไหน ๆ ก็สมัครกันแล้ว ถ้าไม่รู้จะดูอะไรต่อดี ขอเชียร์ให้ลองดู 10 ซีรีส์เหล่านี้ รับประกันว่าของดีแน่นอนครับ
.
Chernobyl ( A+ )
ไม่ต้องพูดเยอะ ซีรีส์ดีกรีชนะลูกโลกทองคำสาขา Limited Series ในปีเดียวกับที่มี Unbelievable ความยาวประมาณ 5 ชั่วโมงอัดแน่นคุณภาพเน้น ๆ ภายใต้เรื่องราวชำแหละต้นตอและสาเหตุของการระเบิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เราเชื่อว่า Chernobyl ยังมีเจตนาเปิดเผยข้อความทางการเมืองที่แสดงให้เห็นถึงพลเรือนที่ถูกจำกัดเสรีภาพเพื่อดำรงไว้ซึ่งการคงอยู่ของรัฐ ของดีขนาดนี้ห้ามพลาด
.
The Wire ( A+ )
ซีรีส์สืบสวนปราบยาเสพติดที่สมจริงที่สุด เริ่มต้นสืบจากศูนย์ให้คนดูเห็นภาพทั้งวงจร เกือบทั้งเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการดักฟังความเคลื่อนไหวเพื่อหาหลักฐานมัดตัวบอสใหญ่ที่ระวังตัวขั้นสุด มีการทำรีเสิร์ชกลุ่มค้ายาระดับชุมชนทำให้ตัวละครแก๊งทั้งหลายดูน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก เป็นซีรีส์อาชญากรรมที่เล่าเรื่องค่อนข้างติดดิน สมจริง ขุดลึกถึงย่านคนผิวดำและวัฒนธรรมองค์กรตำรวจอเมริกาในช่วงยุค 2000 ห้ามพลาดอีกเช่นเคย
.
Big Little Lies ( A )
จุดขายเป็นแนวสืบสวนหาตัวฆาตกร แต่ตัวซีรีส์จริง ๆ พูดถึงปัญหาของผู้หญิงเล่าผ่านพลังหญิง รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตลอดทั้งเรื่องมันพูดถึงความผิดปกติและปัญหาที่คนไม่มองว่าเป็นปัญหาจนมันบานปลายออกไปเรื่อย ๆ ขนนักแสดงมาทั้งนิโคล คิดแมน, รีส วิทเธอร์สปูน, และเชลีน วู้ดลีย์ ส่วนตัวประทับใจแค่ซีซั่นแรก เชียร์ให้ดูกันอีกเรื่อง
.
Watchmen ( A )
เป็นซีรีส์ที่ต้องใช้ความอดทนให้ผ่านช่วงแรกสักหน่อย พอเข้าสู่ตอน 6 ปุ๊บ เครื่องติดอีกเลเวลนึงเลย ตัวซีรีส์มันอ้างอิงตอนจบจากฉบับกราฟฟิคโนเวลมาต่อยอดใหม่เป็นอีเว้นต์ 34 ปีต่อมาหลังจากฝนหมึกที่คร่าชีวิตคนบนโลกกว่า 3 ล้านคน ที่พวกแต่งคอสตูมใส่หน้ากากเป็นศาลเตี้ยกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มี 2 ตอนเทพ ๆ ที่เชียร์ให้ดูกันคือ A God Walks into Abar และ This Extraordinary Being ใครชอบเวอร์ชั่นหนังไม่ควรพลาดเด็ดขาด
.
True Detective ( A- )
นึกถึง Memories of Murder และ Zodiac ที่พอขยายเป็นซีรีส์แล้วสามารถบาลานซ์การเล่าชีวิตส่วนตัวของสองนักสืบ กับปริศนาคดีฆาตกรรมได้อย่างลงตัว ตอนดูเกือบจะถอดใจแล้ว ต้องรอผ่าน 3 ตอนแรกไปก่อนแล้วจะบอกเลยว่าคุ้มค่าที่ดูจนจบ เขียนบทฉลาดดี พอการสืบสวนไม่ได้เข้มข้นแบบแจกแจงโชว์ขั้นตอนละเอียด การเล่าโดยอาศัยการทวนความจำในอดีตจึงเป็นเทคนิคที่เวิร์คสำหรับการเล่าเนื้อคดีแบบเน้น ๆ ไม่ต้องพูดเยอะกดดูกันได้เลย
.
The Outsider ( B+ )
ไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นการเปิดมิติใหม่ของซีรีส์แนวสืบสวนได้หรือไม่ มันใช้โครงแบบเดิม ๆ คือรูปแบบฆาตกรต่อเนื่อง ปริศนาฆาตกรรม แต่เล่าแบบท้าทายความคิดที่มีต่อเรื่องเหนือธรรมชาติ อารมณ์เหมือนคนไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่การสืบสวนทำให้เกิดข้อสงสัยที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในแง่วิทยาศาสตร์ มันเลยท้าทายทั้งในแง่ความพยายามจะอธิบายด้วยจิตวิทยาพร้อม ๆ กับนิติวิทยาศาสตร์ มี 2 ตอนแรกของซีรีส์ที่กำกับโดย เจสัน เบตแมน คือดีมาก แต่หลังจากนั้นเริ่มยืดหลายช่วง ถึงอย่างนั้นก็ยังเชียร์ว่าคุณภาพเยี่ยมจนไม่อยากให้พลาด
.
Euphoria ( B+ )
มันก็ซีรีส์วัยรุ่นที่อัพเดทเนื้อหาร่วมสมัยกว่าหลาย ๆ เรื่อง การมีอยู่ของพวกพรฮับ, reddit, แอปนัดเย, แฟนฟิคชั่น, บิตคอยน์, ยุคแห่งภาพหลุดเพราะการส่งคลิปให้คนรักหรือคนที่ชอบ และอื่น ๆ อีกมากมายที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันเด็กรุ่นใหม่ ตัวละครนำก็เป็นการให้พื้นที่คนกลุ่มน้อยในสังคม เป็นเด็กม.ปลายที่กำลังบำบัดอาการติดยา และตัวเอกอีกคนก็เป็น transgender นอกนั้นตัวละครอื่น ๆ ก็ยังทั่วไปของวัยรุ่น สายนี้ไม่ควรพลาดชม
.
Mildred Pierce ( B+ )
เวอร์ชั่นหนังปี 1945 คือหนึ่งในหนังโปรดที่สุดตลอดกาลของเราเลย ส่วนเวอร์ชั่นซีรีส์แม้จะมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อยแต่โครงหลักของเรื่องยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่ อันที่จริงของเก่ามันเป็นฟิล์มนัวร์ฆาตกรรมจนทำให้เราลืมโฟกัสไปอย่างหนึ่งว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นการเพิ่มอำนาจให้เพศหญิง ซึ่งพอ ท็อดด์ เฮย์นส หยิบมาทำเป็นมินิซีรีส์เลยขยายจุดดังกล่าวขึ้นมาให้เด่นชัดขึ้น กลายเป็นซีรีส์ที่ทำให้เห็นการพึ่งพาตัวเองของเพศหญิง การส่งเสริมให้กำลังใจของผู้หญิงด้วยกัน และการที่เธอไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของเพศชาย ด้วยการเป็นซีรีส์ยาว 5 ชั่วโมงครึ่ง จึงสามารถขยายเนื้อหาให้ลึกและเข้มข้นกว่าฉบับหนังที่ยาวเพียง 2 ชั่วโมง
.
Silicon Valley ( B+ )
ดูช้าไป 6-7 ปี ยังไม่ตกยุคเลย แพทเทิร์นวงการสตาร์ทอัพที่หยิบมาล้อเลียนมันเป็นวงโคจรผลิตซ้ำเรื่อย ๆ แค่เปลี่ยนหน้าใหม่หน้าเก่าเท่านั้นเอง ถ้าตามข่าววงการสตาร์ทอัพน่าจะตลกมากทีเดียว คิดว่าคนวงในอาจจะอินกว่าเราอย่างแน่นอน ถึงแม้หลายมุกจะสัปดนแบบ geek จริงจังเว่อร์และแอบ non pc อยู่บ้าง พอเราเคยอ่านประสบการณ์ของคนทำงาน Silicon Valley เลยยิ่งตลกกับทุกฉากที่ตัวประกอบโนเนมเดินมาขายไอเดียทำแอปในซีรีส์ นี่สินะที่เรียกว่าจริงในจริง
.
Succession ( B )
ซีรีส์แนวการเมืองในครอบครัว เมื่อเจ้าของธุรกิจสื่อทรงอิทธิพลตั้งใจจะวางมือให้ลูกชายคนรองที่สนใจธุรกิจครอบครัวขึ้นมาเป็น CEO แทน แต่แล้วเขาเกิดเปลี่ยนใจกลับมาทำงานต่อเอง ปุ๊บปั๊บป่วยหนัก ลูกชายเลยพยายามโค่นพ่อตัวเองลงจากตำแหน่ง โดยพยายามอาศัยความร่วมมือจากทั้งน้องชาย, ผู้ถือหุ้นใหญ่, และที่ปรึกษาที่ผูกพันกับพ่อตัวเองมานาน ความสนุกอยู่ที่ว่าคนในครอบครัวนี้ปากจัดกันหมดทั้งบ้าน แถมความที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง อาจจะติดนิสัยพ่อมามากเลยขยันเบ่งหรือโชว์พาวกันเหลือเกิน
.
.
.
เอาเป็นว่าสมัคร HBO GO กันแล้ว ก็ใช้ให้คุ้ม จัด 10 ซีรีส์นี้กันต่อได้เลยครับ
#หนังโปรดxซีรีส์HBO
หนังโปรดxซีรีส์hbo 在 หนังโปรดของข้าพเจ้า Facebook 的最佳貼文
The Undoing (สามารถดูได้ใน HBO GO)
ซีรีส์ขายการแสดงที่แท้ทรู นิโคล คิดแมน กับฮิวจ์ แกรนท์ มอบการแสดงเลเวลสร้างความเคลือบแคลงใจและเข้าถึงตัวละครแบบพลิกอารมณ์คนดูได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวซีรีส์ชูพล็อตตัวเองเป็นแนวสืบสวน whodunit แต่เอาเข้าจริงพล็อตมันชี้เป้าไปที่ฮิวจ์ แกรนท์ เป็นผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียว จึงดูจะเป็นการเล่นกับความหวาดระแวงว่าสามีตัวเองจะเป็นฆาตกรจริง ๆ หรือเปล่า พอบทของนิโคล คิดแมน เป็นจิตแพทย์ด้วย ยิ่งยกระดับความสงสัยขึ้นมาเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ที่อยู่กันมากว่า 30 ปี ว่าคนตรงหน้าคือตัวตนที่เรารู้จักแค่ไหน จะไว้ใจได้หรือเปล่า
.
เหมือนคนจะชมนิโคล คิดแมน กันค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนตัวให้เครดิตฮิวจ์ แกรนท์ มากกว่าแฮะ คือนิโคล คิดแมน แสดงดี แต่ออกแนวดีสไตล์เข้าถึงตัวละครแบบ Big Little Lies ส่วนฮิวจ์ แกรนท์ บทของเขาคือต้องแสดงแบกความน่าเชื่อถือของเรื่อง ถ้าคนดูไม่เชื่อในคาแรคเตอร์ที่ถ่ายทอดออกมาคือจบทันที แล้วเลเวลการแสดงของเขาต้องบาลานซ์ดีมาก ดูเป็นคนไม่เสแสร้ง แต่ก็ไม่ใช่คนดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขาต้องรักษาระดับให้อยู่ตรงเส้นแบ่งระหว่างคนดีดวงตก กับคนมีความลับที่สับปลับ พอการแสดงสามารถทำให้คนดูก้ำกึ่งจึงอยู่ในสถานการณ์คล้ายนิโคล คิดแมน ว่าจะเชื่อมุมไหนดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราลุ้นไปถึงตอนจบ (ที่อาจจะจบได้แบบหนั๊งหนังไปพอสมควร เหมือนไม่รู้จะหาทางลงยังไง ก็จบแบบนี้เลยละกัน)
.
อย่างไรก็ตามตัวซีรีส์ดูจะมีจุดขัดข้องใจอยู่บ้าง เช่นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมสุดโหดเหี้ยม, อาวุธก่อเหตุที่หายไป, และจุดสำคัญคือพอซีรีส์เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา แต่ละเลยการเล่าส่วนของลูกที่ดูจะมีความสำคัญออกไป เลยทำให้ตัวซีรีส์อ่อนแรงลงไปพอสมควร สิ่งเหล่านี้ชดเชยมาด้วยการเล่าชีวิตแต่งงานจากมุมจิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษารักษาชีวิตสมรสคนอื่น แต่พอเป็นเรื่องตัวเองแล้วมี Confirmation bias ซึ่งฉากไม้ตายของซีรีส์คงหนีไม่พ้นการฟาดกันในศาลช่วง 2 ตอนสุดท้าย ที่ชวนให้อยากรู้เหลือเกินว่าฮิวจ์ แกรนท์ เป็นคนผิดจริงหรือเปล่า ผ่านการสืบพยานที่ไล่จี้หาจุดบอดเพื่อเอามาเผยให้ลูกขุนและคนดูได้เห็น
Creator: David E. Kelley
6 Episodes (เฉลี่ยตอนละ 50 นาที)
B
#หนังโปรดxซีรีส์HBO
หนังโปรดxซีรีส์hbo 在 หนังโปรดของข้าพเจ้า Facebook 的最佳貼文
Silicon Valley ซีซั่น 1 (สามารถดูได้ใน HBO GO)
• ดูช้าไป 6 ปี ยังไม่ตกยุคเลย แพทเทิร์นวงการสตาร์ทอัพที่หยิบมาล้อเลียนมันเป็นวงโคจรผลิตซ้ำเรื่อย ๆ แค่เปลี่ยนหน้าใหม่หน้าเก่าเท่านั้นเอง
• ถ้าตามข่าววงการสตาร์ทอัพน่าจะตลกมากทีเดียว คิดว่าคนวงในอาจจะอินกว่าเราอย่างแน่นอน ถึงแม้หลายมุกจะสัปดนแบบ geek จริงจังเว่อร์และแอบ non pc อยู่บ้าง
• เคยอ่านประสบการณ์ของคนทำงาน Silicon Valley เลยยิ่งตลกกับทุกฉากที่ตัวประกอบโนเนมเดินมาขายไอเดียทำแอปในซีรีส์ นี่สินะที่เรียกว่าจริงในจริง
• ส่วนตัวมองว่ากราฟการโฟกัสความสำคัญของเรื่องแกว่งพอสมควร พอมันเริ่มด้วยท่าทีวงการสตาร์ทอัพเป็นจุดขาย แต่พอออกทะเลไปบ้าง ลดทอนความสำคัญช่วงตอนกลาง ๆ เลยรู้สึกดร็อปลงนิดหน่อย ซึ่งก็ยังดูสนุกมากอยู่
• พอดูช้าไป 6 ปี เลยเห็นวิสัยทัศน์บางอย่างที่ใส่ลงไปในซีรีส์ เช่น คลาวด์และรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งถ้าจะทำซีรีส์แบบนี้ในสมัยนี้ก็ต้องพูดถึงยุคต่อไปของการใช้ 5G จริงจัง มีอะไรมารองรับ big data มหาศาล หรือพวก cybersecurity ที่แน่นหนา
-------------------------------------
'ริชาร์ด เคนดริกส์' (Thomas Middleditch) โปรแกรมเมอร์ฝีมือดีแต่ไอเดียต๊อกต๋อยทำแอปตรวจจับลิขสิทธิ์เพลงที่ตลาดไม่สนใจ หารู้ไม่ว่าภายใต้ไอเดียเห่ย ๆ ของเขานั้นดันมีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่คือตัวบีบอัดไฟล์ที่สามารถย่อขนาดลงมาโดยคุณภาพเท่าเดิม ซึ่งการเขียนโค้ดนี้สุดยอดมากจนเกิดการแย่งชิงตัวจากสองนักลงทุน ฝั่งนึงเสนอเงินให้ 10 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อกิจการมาเป็นของตัวเอง ส่วนอีกฝั่งจะให้เงินลงทุน 2 แสนเหรียญฯ แลกกับสิทธิ์ในการถือหุ้น 5% เพราะหวังว่าในอนาคตจะมีมูลค่าขยับขึ้นไปเป็นร้อยล้านพันล้าน คงเดาคำตอบกันไม่ยากว่าตัวเอกของเราจะเลือกทางไหน
.
พวกการล้อเลียนวงการสตาร์ทอัพนี่ต้องบอกว่าเอาเรื่องจริงมาล้อเล่นได้บันเทิงสุด ตัวละครคือวางชัดมาก โปรแกรมเมอร์เนิร์ด ๆ ไม่มีความรู้ด้านแผนธุรกิจและการนำเสนอผลงาน ขยันเล่นมุกกระทั่งพวกเรื่องตั้งชื่อแบรนด์และวัฒนธรรมองค์กรที่ทำเล่น ๆ ไม่มีระเบียบไม่ได้แล้ว พอถึงเวลาจริงจังไม่มุกก็นำเสนอแง่มุมที่คาดไม่ถึงจากแค่การซื้อเบอร์เกอร์คิงมาวางแล้วคิดหาวิธีทำเงินจากสิ่งที่อยู่บนเบอร์เกอร์ วิธีมองวงจรชีวิตจั๊กจั่นแบบคณิตศาสตร์นี่เปิดมุมมองการลงทุนที่คาดไม่ถึงเลย หรือการนำเสนออีกด้านของข่าวแฮ็คเกอร์ในอเมริกาที่เปิดมุมมองเหมือนกัน คือเล่นมุกในวงการได้สนุกแบบที่คนนอกยังตลกได้อยู่ แล้วซีรีส์ยังขยันยิงมุกเกี่ยวกับเชื้อชาติและเพศแบบบางครั้งคนดูอย่างเราถึงขั้นหลุดขำออกมา
.
ถึงอย่างนั้นแล้วพอซีรีส์วางตัวเป็นโทนคอมเมดี้ จึงทำให้หลายครั้งรู้สึกว่าซีรีส์ใช้จังหวะตลกกลบเกลื่อนความจริงจังของเนื้อหาออกไป มันอาจจะเล่าวงการสตาร์ทอัพแบบคนบ้าน ๆ ได้ชวนฝันและสมจริงในเส้นทางการเติบโตท่ามกลางอุปสรรค แต่หลายครั้งจังหวะของซีรีส์ก็เล่นง่ายและเบาไปหน่อยเวลาจะเร่งโทนซีเรียส ซึ่งเทียบแล้วส่วนคอเมดี้ทำงานดีมากจนกลบเวลาจะเปิดโหมดขึงขัง (จะว่าไปบริษัท Pied Piper ในซีรีส์ถือเป็น B2C หรือ B2B เพราะถ้าเป็นอย่างหลังคือต้องบอกว่าซีรีส์อ่านเทรนด์ล่วงหน้าแม่นยำมาก จากทำขายระดับ consumer ข้ามไปขายระดับ enterprise เลย)
.
รวม ๆ ก็เป็นซีรีส์ที่บันเทิง ความยาวกำลังดี นั่งดูรวดเดียว 4 ชั่วโมงก็จบซีซั่นแล้ว
Creators: John Altschuler, Mike Judge, Dave Krinsky
8 Episodes (เฉลี่ยตอนละ 30 นาที)
B+
#หนังโปรดxซีรีส์HBO