วันที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
การค้นพบล่าสุดทางบรรพชีวินวิทยาพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่ตายจากอุกกาบาตที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนเข้ากับโลกในแถบคาบสมุทร Yucatán ในประเทศแมกซิโกในปัจจุบัน แรงระเบิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตนี้ส่งคลื่นสั่นสะเทือนไปในทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์พัดเอาสัตว์น้ำและโคลนไปเกยตื้นบนแผ่นดิน นอกจากนี้แรงปะทะของอุกกาบาตยังส่งชั้นหินหลอมละลายเป็นจำนวนมากพุ่งไปในอากาศ ตกลงมาเป็นก้อนลาวาเหลวที่ทำให้ป่าไม้ลุกเป็นไฟ เศษฝุ่นละอองที่ฟุ้งไปปกคลุมทั่วโลกทำให้ต้นไม้จำนวนมากล้มตายลง ฝนกรดที่ตกตามลงมาทำให้ระบบนิเวศต่างๆ พังทลายลง การชนกันของอุกกาบาตครั้งนี้เป็นเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตชนิดแรกถือกำเนิดขึ้นมา
ในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Extinction Event) ครั้งนี้ สปีชีส์ของพืชและสัตว์กว่า 75% ได้สูญพันธุ์และหายไปจากพื้นผิวโลกตลอดกาล และเป็นจุดจบของสิ่งมีชีวิตจำพวกไดโนเสาร์ทุกชนิด แต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้เอง ที่ทำให้เหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สามารถรอดจากการสูญพันธุ์นี้ ได้มีโอกาสแพร่ขยายจำนวน เพิ่มความหลากหลาย จนกลายมาเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และกลายมาเป็นลิงไม่มีหางอย่างมนุษย์เราได้ในที่สุด เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าอารยธรรมของมนุษย์นั้นเริ่มมาจากอุกกาบาตลูกนี้ เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วนี่เอง
เราทราบกันมานานแล้วว่ามีเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ 66 ล้านปีที่แล้ว โดยมีหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ก็คือแถบชั้นหินที่เรียกว่า K-T boundary (หรือ K-Pg boundary) ในแถบชั้นหินระหว่างชั้นหินที่อยู่ในยุค Cretaceous และ Paleogene (หรือที่เคยเรียกว่า Tertiary เป็นที่มาของชื่อ K-T) จะมีแถบชั้นหินบางๆ ขนาดสมุดบันทึกหนึ่งเล่ม ที่มีปริมาณแร่ของ Iridium มากกว่าปรกติปนอยู่ในชั้นหินนี้เกือบทั่วทั้งโลก เนื่องจากแร่ Iridium นั้นหาได้ยากในโลก แต่มีทั่วไปในอุกกาบาต จึงเป็นหลักฐานว่าในระหว่างรอยต่อของยุค Cretaceous และ Paleogene นั้นน่าจะมีอุกกาบาตชนเข้ากับโลก โดยเป็นอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะส่งชิ้นส่วนกระจายไปทั่วทั้งผิวโลก
ซึ่งชั้นหินที่เก่ากว่าภายใต้รอยต่อ K-T นี้ จะสามารถพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ได้ แต่ชั้นหินที่ใหม่กว่าเหนือรอยต่อ K-T นี้จะไม่มีฟอสซิลของไดโนเสาร์อีกเลย นอกไปจากนี้ชั้นหินเหนือ K-T boundary เพียงเล็กน้อยมีปริมาณความหลากหลายของพืชและสัตว์ที่น้อยมาก เป็นที่แน่ชัดว่าอุกกาบาตที่ทำให้เกิด K-T boundary นี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ทั้งพืชและสัตว์จำนวนมากมายสูญพันธุ์ไปจากโลกของเราตลอดกาล และต้องใช้เวลาอีกเป็นอย่างมากว่าที่ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกจะกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง การค้นพบในเวลาต่อมาว่าภายใต้คาบสมุทร Yucatán นั้นมีหลุมอุกกาบาตขนาดมหึมาที่มีอายุตรงกันกับรอยต่อของยุค K-T พอดี ก็ช่วยยืนยันสมมติฐานนี้
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เคยมีการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ในยุคใกล้ๆ ช่วงรอยต่อนี้เลย จนทำให้นักบรรพชีวินวิทยาบางกลุ่มสงสัยว่าไดโนเสาร์อาจจะเริ่มสูญพันธุ์ไปก่อนหน้า K-T extinction event แล้วหรือไม่
...จนกระทั่งตอนนี้
ในงานวิจัยที่กำลังจะตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences อาทิตย์หน้า ได้เปิดเผยการค้นพบครั้งใหญ่ทางบรรพชีวินวิทยาที่นำโดย Robert DePalma นักศึกษาปริญญาเอกจาก University of Kansas และ Curator of paleontology แห่งพิพิธพันธ์ Palm Beach Museum of Natural History ในรัฐ Florida ที่ได้ทำการขุดสำรวจแหล่งฟอสซิลแห่งหนึ่งใน North Dakota มาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
การสำรวจพบว่าชั้นหินหนากว่า 1.5 เมตรนี้เกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ภายในชั้นหินพบฟอสซิลของปลาที่ถูกพัดมากองทับถมกัน พร้อมกับเศษไม้ที่ไหม้ ภายในชั้นตะกอนนี้ยังเต็มไปด้วยแร่ Tektite ทรงกลม ซึ่งเป็นเศษหินบนโลกหลอมเหลวที่แข็งตัวขณะที่ตกลงมาในอากาศจนมีลักษณะคล้ายแก้ว และร่องรอยการฝังตัวของ Tektite เหล่านี้ลงในชั้นตะกอน
สิ่งนี้บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เมื่อกว่า 66 ล้านปีที่แล้ว แรงสั่นสะเทือนของอุกกาบาตส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์พัดเอาตะกอนและสัตว์น้ำขึ้นมาเกยตื้น ปลาจำนวนมากยังคงมีชีวิตและพยายามหายใจอยู่ในน้ำโคลนเหล่านี้ ก่อนที่จะมีเศษแก้วหลอมเหลวที่ถูกกระจายขึ้นไปในอากาศตกลงมา ทำให้ป่ารอบข้างลุกเป็นไฟ ดังที่ปรากฏเป็นฟอสซิลของเศษไม้ไหม้เกรียมจำนวนมาก และ Tektite ที่ฝังตัวอยู่ในลำตัวและเหงือกของปลา นอกจากนี้แล้วรอบๆ ฟอสซิลของไม้บางส่วนยังมีอำพันซึ่งมี Tektite ฝังอยู่ ปราศจากการเจือปนจากแร่ธาตุภายนอกทั้งปวง การวิเคราะห์ทางไอโซโทปของ Tektite นี้บ่งชี้ให้เห็นว่านี่เป็น Tektite ที่เกิดขึ้นในยุคเดียวกับ K-T boundary บริเวณอื่นของโลก
ภายในชั้นหินยังมีการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ duck-billed Hadrosaur ขนของไดโนเสาร์ และซากของไดโนเสาร์พวก Triceratops ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าไดโนเสาร์เหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างที่คลื่นยักษ์นี้พัดมาฝังพวกมันเอาไว้ และไดโนเสาร์และสัตว์น้ำเหล่านี้ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ตายเป็นพวกแรกๆ จากการชนกันของอุกกาบาตที่นำมาซึ่งจุดจบของไดโนเสาร์ทั้งปวงบนโลก
ชั้นหินนี้ ไม่เพียงแต่จะเก็บรักษาฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ แต่ยังเปรียบได้กับ snapshot ที่เก็บรักษาเรื่องราวของหนึ่งชั่วโมงแรกหลังจากที่เกิดการชนของอุกกาบาต ทำให้เราทราบว่าในวันนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ทำให้สิ่งมีชีวิตกว่า 75% บนโลกต้องสูญหายไปตลอดกาล
นอกไปจากนี้ Robert DePalma ยังค้นพบฟอสซิลและร่องรอยของการขุดผ่านชั้นโคลนเหล่านี้ ซึ่งเกิดจากสัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บ่งชี้ให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางส่วนสามารถอยู่รอดภายหลังหายนะนี้ได้ ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงมนุษย์อย่างพวกเรา
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://www.newyorker.com/magazine/2019/04/08/the-day-the-dinosaurs-died
[2] https://news.berkeley.edu/2019/03/29/66-million-year-old-deathbed-linked-to-dinosaur-killing-meteor/
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過2,910的網紅コバにゃんチャンネル,也在其Youtube影片中提到,...