เมื่อ “โลกาภิวัฒน์” เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว จะปรับตัวยังไง?
หลายสิบปีที่ผ่านมา คุณมักจะได้ยินคำว่า “Globalization” หรือ “โลกาภิวัฒน์” เพื่อใช้อธิบายเรื่องราวที่ฟังดูทันสมัย น่าตื่นเต้น ทั้งระบบขนส่งและติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก ทำให้เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าด้วยกันในทุก ๆ ด้าน แต่ไม่น่าเชื่อครับว่าตอนนี้คำว่า “Globalization” จะกำลังจะกลายเป็นอดีตและถูกแทนที่ด้วยคำตรงข้ามอย่าง “Deglobalization”
ความจริงประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาสักพักนึงแล้วตั้งแต่ช่วงที่โควิด19 ระบาดใหม่ ๆ ในตอนนั้นมีหลายคนคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องชั่วคราวจากการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ เมื่อถึงเวลาเปิดประเทศแล้วทั้งโลกก็จะเชื่อมโยงกันเหมือนเดิม แต่ในตอนนี้มุมมองของนักวิเคราะห์เริ่มเปลี่ยนไป พวกเขามองว่าจริง ๆ แล้ว “Deglobalization” กำลังจะมาอยู่แล้ว ส่วนโควิด19 นั้นเป็นเพียงตัวเร่งเท่านั้น
ผมไปเจอคลิปหนึ่งของ The Economist มีชื่อคลิปว่า Will covid kill globalisation? อธิบายประเด็นนี้ได้เห็นภาพชัดเจนมากครับ แต่ผมคงไม่ได้แปลมาอย่างละเอียด เพียงแค่เขียนเล่าตามความเข้าใจเท่านั้น ถ้าเพื่อน ๆ อยากดูต้นฉบับผมแนะนำให้ลองเสิร์จในยูทูบดูนะครับ น่าจะหาเจอไม่ยาก
โลกาภิวัฒน์เริ่มเป็นเทรนด์ของโลกตั้งแต่ช่วงจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศต่าง ๆ ขยาดกับสงครามและความขัดแย้ง ทำให้แต่ละประเทศร่วมมือร่วมใจกันทำสนสัญญาต่าง ๆ เพื่อสงบศึกและเปิดเสรีการเงิน การค้า การลงทุน การซึกษา เทคโนโลยี การแพทย์ ฯลฯ จนเศรษฐกิจเติบโตกันถ้วนหน้า
Globalization ทำให้เกิดการกระจายเงินลงทุนไปทั่วทุกมุมโลก มีการตั้งโรงงานการผลิตในประเทศที่ค่าแรงต่ำ ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานได้อย่างมหาศาล
ตัวอย่างเช่น กางเกงยีนหนึ่งตัวติดป้ายว่า “Made in Bangladesh” ก็ไม่ได้หมายความว่าวัตถุดิบและกระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่บังคลาเทศ เพราะกระดุมและซิปอาจนำเข้าจากจีน ส่วนผ้าดิบก็นำเข้าจากอินเดีย มาประกอบร่างเป็นกางเกงกันที่บังคลาเทศแล้วนำไปตีแบรนด์ที่ฝรั่งเศส
สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศที่มีเทคโนโลยีด้อยกว่าแต่เต็มไปด้วยแรงงานหนุ่มสาวในสมัยนั้น ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในเอเชียจึงได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะเกิดการไหลเข้าของเงินทุนมหาศาล เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ โลกทั้งใบเกิดความเชื่อมโยงกันทั้งหมดอย่างซับซ้อนหรือที่เรียกว่า “Complex Supply Chain”
มันมีข้อดีขนาดนี้แล้วทำไม Globalization ถึงจะหายไป? เหตุผลหลัก ๆ มี 2 ข้อดังนี้ครับ
1. โควิด-19
การล็อกดาวน์ทำให้คุณมองเห็นความเสี่ยงของ Globalization คือแค่จุดเล็ก ๆ ใน Supply Chain มีปัญหาก็จะพังกันหมดได้ เช่น จากตัวอย่างเรื่องกางเกงยีน เมื่อเรือส่งสินค้าไม่สามารถส่งกระดุมจากจีนไปบังคลาเทศได้ แค่อย่างเดียวก็ทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้ พอผลิตไม่ได้แรงงานในบังคลาเทศก็ไม่มีรายได้ แต่คนที่อยู่ดี ๆ ก็ซวยคืออินเดียที่ถูกยกเลิกออเดอร์ผ้าดิบและฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าของแบรนด์ เห็นไหมครับว่ามันเปราะบางแค่ไหน
บริษัทต่าง ๆ จึงเริ่มปรับตัว โดยทำให้ Supply Chain สั้นและซับซ้อนน้อยลง คือใช้วัตถุดิบจากระแวกใกล้ ๆ กัน แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่มันมีข้อดีคือ "ความรวดเร็วในการผลิต" ซึ่งแบรนด์ที่ปรับตัวได้ดีจะใช้จุดเด่นนี้ในการปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับกระแสในช่วงนั้น ประมาณว่า “ถึงขายแพงขึ้น แต่มันโดนใจ ลูกค้าก็ยอมซื้อ”
2. การเติบโตของจีน
เรื่องความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดเป็นปัญหาคู่ระบบทุนนิยมมาช้านาน โดยปกติแล้วมักจะพูดถึงการผูกขาดของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ไม่น่าเชื่อครับว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในระดับโลกเช่นเดียวกัน เมื่อจีนได้รับประโยชน์จาก Globalization ทำให้พัฒนาขึ้นมากจนเปลี่ยนจากประเทศรับจ้างผลิตเป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีได้และสามารถผลิตสินค้าที่ระดับคุณภาพเท่ากันให้ราคาถูกกว่าได้
ทำให้ยุโรปและสหรัฐมองว่าจีนคือตัวร้ายที่กำลังมาแย่งงานและส่วนแบ่งตลาดของพวกเขา จึงไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมเทรนด์ของผู้นำชาตินิยมจึงกลับมาอีกครั้งเพื่อที่จะปกป้องประเทศของเขาจากการผูกขาดของจีน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือโดนัลด์ ทรัมป์ครับ
แต่รู้ไหมครับว่าคนที่ซวยที่สุดจาก Deglobalization ไม่ใช่สหรัฐและยุโรปหรอกนะครับ แต่เป็นบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่เคยเฟื่องฟูจากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ต้องนั่งมองตาปริบ ๆ เมื่อเขาย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ
ทางรอดของประเทศเหล่านั้นคืออะไร? เมื่อทุกประเทศต้องพึ่งพาตนเองจึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิผลมาทดแทนส่วนของต่างชาติที่หายไป ด้วยการพัฒนาทักษะและนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา นั่นคือเหตุผลที่ทุกคนต้องพัฒนาทักษะของตนเองให้ตอบโจทย์โลกในปัจจุบัน
ถ้ามองอีกมุมหนึ่งในตอนนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหา มันก็เป็นโอกาสของคนที่มีความรู้และทักษะ เพราะอย่าลืมนะครับว่าเงินจะไหลไปหาคนที่แก้ปัญหาให้คนอื่น
อย่างไรก็ตามบรรณาธิการของ The Economist ก็ทิ้งท้ายนะครับว่าเขาไม่เชื่อว่าอนาคตโลกจะเป็น Globalization หรือ Deglobalization แบบสุดโต่ง แค่ตอนนี้โลกกำลังหาจุดสมดุลใหม่อยู่เท่านั้นเอง แล้วเพื่อน ๆ เชื่ออย่างไรครับ?
.
แอดปุง
Search
globalisation globalization 在 Will covid kill globalisation? | The Economist - YouTube 的推薦與評價
... <看更多>