แนวคิดและทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญและของประเทศไทย
แนวคิดและทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนขอกล่าวถึง อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญกับอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ และรวมไปถึงการเกิดขึ้นในการจัดให้มีและการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศไทยด้วย ดังนี้
1.การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรมีอำนาจใดบ้างในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ใครเป็นผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวคิดการเกิดของรัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 อำนาจ คือ อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญกับอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.1 อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ (The Constitution provides) หมายถึง อำนาจทางการเมืองของคณะบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะบันดาลให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นได้สำเร็จ หรือ เรียกอย่างหนึ่งว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” โดยนัยนี้ผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ หมายถึง รัฏฐาธิปัตย์ (Sovereign) หรือผู้มีฐานะอย่างรัฏฐาธิปัตย์ (ผู้มีอำนาจสูงสุด) ซึ่งผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ อาจจำแนกได้ ดังนี้
1) ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
2) ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
3) ราษฎรเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
4) ประมุขของรัฐ คณะปฏิวัติหรือรัฐประหารและราษฎรร่วมกันจัดให้มีขึ้น
5) ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกจัดให้มีขึ้น
1.1.1 ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญ
ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ ประมุขของรัฐที่เป็นกษัตริย์กับประมุขของรัฐที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาทางประวัติศาสตร์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญจะเป็นกษัตริย์ที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจเป็นผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นเองได้ตามพระราชประสงค์ เมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรมีสิทธิมีเสียงในการบริหารประเทศ ในกรณีเช่นนี้ประมุขของรัฐจะสละอำนาจบางส่วนของพระองค์ให้แก่คณะบุคคลหรือประชาชนทั่วไป แต่ยังทรงสงวนพระราชอำนาจบางประการไว้
ตัวอย่าง รัฐธรรมนูญที่ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มี ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่น สมัยจักพรรดิ์เมจิ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1889 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ.1815 รัฐธรรมนูญของประเทศโมนาโค ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1911 และรัฐธรรมนูญของประเทศเอธิโอเปีย ค.ศ. 1931 รัฐธรรมนูญของประเทศภูฏาน คือ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเก วังซุก ทรงจัดให้มีรัฐธรรมนูญเปลี่ยนการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้น
ข้อสังเกต การที่ประมุขจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นเองย่อมส่งผลดี 2 ประการ คือ
1. เพื่อช่วยให้ประเทศพ้นจากการปฏิวัติ เพราะประมุขของรัฐได้จัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นก่อนที่มีการเรียกร้องหรือบีบบังคับให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น
2. เพื่อเสริมสร้างบารมีของกษัตริย์ ตลอดจนเป็นวิธีการทำให้พสกนิกรเคารพยำเกรงกษัตริย์ยิ่งขึ้น เพราะสำนึกในพระกรุณาและน้ำพระทัยที่ทรงสละพระราชอำนาจบางส่วนแก่พสกนิกรของพระองค์
1.1.2 ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารในฐานะจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่เรียกว่า “การปฏิวัติ” (Revolution) หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังอำนาจบังคับที่เรียกว่า “รัฐประหาร” (Coup d’ Etate) ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารได้สำเร็จย่อมอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจวางกฎเกณฑ์การปกครองประเทศได้ตามที่ตนต้องการ บุคคลประเภทนี้จึงจัดได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติครั้งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1789 การปฏิวัติในประเทศรัสเซีย ปี ค.ศ.1917 เป็นตัวอย่างของการปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบอื่นในทันทีทันใดและมีการจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
1.1.3 ราษฎรในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
ในกรณีราษฎรร่วมกันก่อการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้สำเร็จ ราษฎรทั้งปวงย่อมได้ชื่อว่า ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งตนช่วงชิงมาได้ แม้หัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติก็ต้องอยู่ภายใต้ความประสงค์ของประชาชน จะทำการใดตามความพอใจของตนเองดังในกรณีดังกล่าวข้างต้นไม่ได้
ตัวอย่าง รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1787 ซึ่งเป็นผลจากชาวอเมริกันใน 13 มลรัฐใหญ่ปฏิวัติแยกตัวออกจากประเทศอังกฤษ เมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 รัฐธรรมนูญของประเทศรัสเซีย ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวรัสเซียปฏิวัติยึดอำนาจจากพระเจ้านิโคลัส ในปี ค.ศ. 1917 รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวฝรั่งเศสปฏิวัติยึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปี ค.ศ. 1789 เป็นต้น
คำปรารภของ รัฐธรรมนูญชนิดนี้มักจะมีถ้อยคำเร้าใจแสดงให้เห็นถึงพลังร่วมกันของประชาชน ซึ่งฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการจนสำเร็จ
1.1.4 ประมุขของรัฐ คณะปฏิวัติหรือรัฐประหาร และราษฎรเป็นผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญร่วมกัน
ในบางกรณีเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น คณะปฏิวัติรัฐประหารไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม หรือความรุนแรง คณะปฏิวัติรัฐประหารเมื่อได้ปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จต้องการอำนาจทางสังคมที่ประมุขของรัฐมีต่อประชาชน อาจอาศัยอำนาจของประมุขของรัฐ โน้มน้าวให้ประชาชนร่วมมือในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น จึงเกิดแนวความคิดประมุขของรัฐ ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ราษฎร ในฐานะเป็นผู้จัดให้มีร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
1.1.5 ผู้มีอำนาจภายนอกในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มี
ประเทศที่จะได้รับเอกราชคืนจากประเทศเจ้าอาณานิคม นั้นมักจะตกลงเป็นเงื่อนไขก่อนเสมอว่า ประเทศใต้อาณานิคมจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งประเทศเจ้าอาณานิคมรับรองแล้ว ดังเช่นในกรณีประเทศญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ภายใต้การดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าประเทศญี่ปุ่นปลอดจากการยึดครองและได้เอกราชโดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศเป็นที่พอใจแก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดให้มีและเป็นผู้จัดทำเองด้วย ในกรณีนี้ถือได้ว่ารัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอำนาจภายนอกในฐานะผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกในฐานะผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดผลเสียบางประการ ดังนี้
1.ทำให้ประชาชนขาดความภาคภูมิใจรัฐธรรมนูญของตน เรื่องนี้เป็นเหตุผลในทางจิตวิทยาทางการเมือง เช่น กรณีรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดให้มีและจัดทำโดยคณะกรรมาธิการชาวอเมริกัน ได้มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่รังเกียจรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่องค์กรภายนอกยัดเยียดให้ เป็นต้น
2.การที่องค์กรภายนอกเข้ามาจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นอาจจะเป็นการฝ่าฝืนความประสงค์และเจตนารมณ์ของประชาชนในประเทศนั้นๆ เช่น รัฐธรรมนูญอาจจะมีบทบัญญัติบางอย่าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะนิสัย สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น
1.2 อำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือว่า อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ (Authorized by the Constitution) เป็นอำนาจที่ควบคู่กับอำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่มีผู้จัดให้มีย่อมไม่มีผู้จัดทำ เว้นแต่ในบางกรณี ผู้มีอำนาจจัดให้มีกับผู้จัดให้ทำบุคคลเดียวกัน เช่น ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นต้น ผู้จัดทำรัฐธรรมนูญแยกพิจารณาได้ดังนี้
1.2.1 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยบุคคลคนเดียว
กรณีที่บุคคลคนเดียวจัดทำรัฐธรรมนูญ มักเกิดขึ้นจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร และผู้ปฏิวัติได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเตรียมไว้ก่อนแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญประเภทนี้มักมีข้อความสั้นๆและมุ่งหมายจะให้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อความน้อยมาตราหรือไม่มีบทประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าใดนัก เช่น ในกรณีของประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 (ฉบับชั่วคราว) ที่มีบทบัญญัติ 39 มาตรา และที่สำคัญได้บัญญัติรับรองการกระทำของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ก่อนและหลังชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อการกระทำของ คปค. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบการกระทำของ คปค. นับว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เป็นต้น
1.2.2 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคล
การจัดทำรัฐธรรมนูญคณะบุคคล เป็นกรณีที่มีการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมาธิการ” เพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการอาจมีจำนวน 10-20 คน โดยคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ประเทศที่ผ่านพ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆหรือเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ๆมักจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้
ตัวอย่าง รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะบุคคล เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศอินโดนีเซีย ค.ศ. 1944 รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1947 รัฐธรรมนูญของประเทศมาเลเซีย ค.ศ. 1957 เป็นต้น
1.2.3 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติ
ในกรณีที่สภานิติบัญญัติจัดทำรัฐธรรมนูญได้แก่ กรณีที่ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทั้งฉบับ ซึ่งกรณีการให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้จัดทำเสียเอง ย่อมเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อาจทำงานได้ล่าช้า เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติในเวลาเดียวกันและสมาชิกสภาอาจขาดความรู้ความชำนาญในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ไม่น้อย การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติ
ข้อสังเกต การที่ให้สภานิติบัญญัติ มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติจึงเป็นอำนาจที่อยู่ภายในขอบเขตของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
1.2.4 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง สภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง คือ ประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนทั้งประเทศได้ออกเสียงเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญที่ตนร่างขึ้นโดยการสานประโยชน์จากบุคคลทุกฝ่ายเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดและถูกต้องตรงตามความประสงค์ของบุคคลทุกฝ่ายให้มากที่สุด สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญทั่วโลก คือ การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1789
การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยส่วนมากมักเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไปแล้วหรือมิฉะนั้นก็ต้องการประสานประโยชน์จากบุคคลทุกฝ่ายเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุด แท้จริงการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับการร่างโดยคณะกรรมาธิการ เพียงแต่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าในคณะกรรมาธิการเท่านั้น
การจัดรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้นผู้เขียนเห็นว่าเป็นการยอมรับการจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชนและนานาประเทศก่อให้เกิดผลดี ดังนี้
1.ทำให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากบุคคลหลายประเภท หลายอาชีพ หลายวงการ ทำให้ได้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป
2.สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ย่อมสามารถทุ่มเทเวลาสำหรับจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับงานอื่น
3.เป็นการลดความตึงเครียดทางการเมืองและเป็นการประสานประโยชน์จากทุกฝ่าย เช่น การร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มาจากผู้แทนทุกรัฐจึงสานประโยชน์ได้ทุกรัฐ เป็นต้น
2. วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ
การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นมีวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ด้วยกัน 2 วิธี คือ วิธีจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยการคิดขึ้นมาใหม่ กับ วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยการเทียบเคียงหรือการลอกเลียนแบบ ดังนี้
2.1 วิธีจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยการคิดขึ้นมาใหม่
วิธีจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยการคิดขึ้นมาใหม่ คือ การคิดโดยการคิดค้นหาหลักเกณฑ์แห่งรัฐธรรมนูญขึ้นเอง เพื่อเป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1789 ได้จัดทำขึ้นมาใหม่หลังจากการปลดแอกหรือการประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดทำรัฐธรรมนูญที่วางหลักการปกครองที่แตกต่างไปจากประเทศอังกฤษ เช่น การใช้ระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีวางหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งหน้าที่ของแต่ละองค์กรค่อนข้างจะเคร่งครัดที่แตกแต่งไปจากระบบรัฐบาลแบบรัฐสภาที่วางหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งหน้าที่ขององค์กรไม่ค่อยเคร่งครัด เป็นต้น
2.2 วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยการเทียบเคียงหรือการลอกเลียนแบบ
วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยการเทียบเคียงหรือการลอกเลียนแบบ โดยการหยิบยืมเอาหลักเกณฑ์จากรัฐธรรมนูญของนาประเทศนำมาเป็นต้นแบบซึ่งมีทั้งในรูปแบบของรัฐ รูปแบบการจัดระเบียบแห่งการใช้อำนาจรัฐ กลไกการปกครองประเทศ ตลอดจนหลักการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน รัฐธรรมนูญฉบับสำคัญที่ได้ที่ได้กลายเป็นเจ้าตำรับในรัฐธรรมนูญอื่นๆอย่างแพร่หลาย ได้แก่ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสและรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็ได้ลอกเลียนแบบจากรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญข้างต้นไว้หลายเรื่องด้วยกัน
แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่งที่นักปราชญ์ทางการเมืองได้กล่าวถึงว่า “เราลอกเลียนรัฐธรรมนูญประเทศหนึ่งได้ แต่เราจะลอกเลียนชีวิตจิตใจของคนในประเทศนั้นไม่ได้” ข้อความนี้จึงควรที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงด้วย
2.3 ความสั้นยาวของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญสมัยใหม่มักมีข้อความยาวและมีหลายมาตรา มากกว่ารัฐธรรมนูญสมัยเก่า ที่เป็นเช่นนี้คงเนื่องมาจากประสงค์จะป้องกันการเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญผิดไป และคงต้องการขยายขอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆให้กว้างขวางคล่องตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญสมัยใหม่มักครอบคลุมเนื้อหาในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองเอาไว้โดยละเอียด เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย มีถึง 395 มาตรา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลกในขณะที่รัฐธรรมนูญสมัยเก่ามักบัญญัติข้อความสั้นๆโดยปล่อยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตีความอย่างกว้างขวางกันเองในภายหลัง อย่างเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1789 มีเพียง 7 มาตรา ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดในโลก
3.การจัดให้มีและการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
การจัดให้มีและการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงอำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญว่าใครเป็นผู้มีรัฐธรรมนุญ อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญว่าใครเป็นผู้มีอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ และวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบัน ดังนี้
3.1 การจัดให้มีรัฐธรรมนูญไทย
สำหรับแนวคิดการจัดให้มีรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นได้รับหลักการแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เริ่มเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ได้ส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อต้องการให้ประเทศไทยเราได้คืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลจากประเทศตะวันตก ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเคยมีดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในทำนองนี้มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับสมัยรัชกาลที่ 7 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ
1.ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยมีการริเริ่มโครงการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้น ที่เรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมเด็จพระยาเทววงศ์วโรปการ” แต่โครงนี้ไม่ได้มีวิวัฒนาการไปมากนัก
2.ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการดำริเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จนถึงกับมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ดำริเองที่ให้มีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าคณะอภิรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจึงถูกระงับไป จนเป็นเหตุให้มีการปฏิวัติโดยคณะราษฎร์ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาอำนาจการจัดให้มีของรัฐธรรมนูญประเทศไทยโดยเฉพาะอำนาจดั้งเดิม การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และจัดให้มีรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกเกิดขึ้น พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชัว่คราว 2475 ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐ ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ราษฎรในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ และต่อมานักวิชาการได้ให้ความเห็นว่า “ถือเป็นประเพณีมาตลอดว่าเมื่อมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารเกิดขึ้นและจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นนั้นถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐ ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ราษฎร ในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ” ดังจะเห็นได้จากคำปรารภในรัฐธรรมนูญ เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 เป็นต้น ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.คณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารต้องการอาศัยพระราชอำนาจทางสังคมของพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะให้ประชาชนรู้สึกและเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงยินยอมให้มีการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
2.คณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารต้องการอาศัยพระราชอำนาจทางสังคมและการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้นานาประเทศรับรองรัฐบาลใหม่
3.คณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารต้องการให้เห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้เขียนในกรณีการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยการปฏิวัติรัฐประหาร ราษฎรมีส่วนร่วมในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญนั้นมีน้อยมากหรือไม่อาจเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ส่วนมากมาจากคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารส่วนใหญ่ที่มีอำนาจจัดให้มีโดยอาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการลงพระปรมาภิไธยประกาศให้มีการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
3.2 การจัดทำรัฐธรรมนูญไทย
การจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยหลักการที่เกิดจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่จะมาจากการจัดทำรัฐธรรมนูญ คือ การจัดทำโดยคณะปฎิวัติ รัฐประหาร การจัดทำโดยสภานิติบัญญัติและการจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ทั้ง 18 ฉบับ ดังนี้
3.2.1 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะปฏิวัติ รัฐประหาร
ประเทศไทยเมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นและจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยคณะปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งส่วนมากจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ดังนี้
3.2.1.1 จากการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะปฏิวัติ
เกิดจากการจัดทำโดยคณะปฏิวัติ คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 : พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน
3.2.1.2 เกิดจากการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร
จากการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหารมีด้วยกันหลายฉบับ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490
2.รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502
3.รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515
4.รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ภายหลังการยึดอำนาจ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง "คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีจำนวน 29 มาตรา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519
5.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ โดยได้วางหลักการไว้กว้างๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 32 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520
6.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาประกาศใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา
7.รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา
3.2.2 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติ
การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติของประเทศไทย มีดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ"
2.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีที่มาจาก ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489
3.รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมญนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา
4.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนแล้วเสร็จ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้มีมติเห็นชอบแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีจำนวน 206 มาตรา
5.รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีจำนวน 223 มาตรา
ข้อสังเกต การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติอาจมอบหมายให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อนแล้วให้สภาดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้ายก็ได้ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและทูลเกล้าฯประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 เป็นต้น
3.2.3 การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ประเทศไทยมีการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีอยู่ 4 ครั้งด้วยกันดังนี้
3.2.3.1 การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492
การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ต่อสภา เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 ประเภท ๆ ละ 5 คน คือ
1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (ประเภททั่วไป)
2) ผู้ที่ดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า
3) ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
และยังกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 จากนั้นดำเนินการเปิดการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต โดยที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2492 เสนอโปรดเกล้าและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492
3.2.3.2 การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511
การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 โดยรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกด้วย โดยมีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวนอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้นอีกด้วย แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน นับได้ว่าเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511) ในระหว่างนั้นมีการเลือกตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือ นายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 เนื่องจากการอสัญกรรมของประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนเดิม สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511
ข้อสังเกต สภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ผู้เขียนเห็นว่ายังห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใดจากกลุ่มบุคคลที่ปฏิวัติรัฐประหาร
3.2.3.3 การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 โดยมีหลักการและอำนาจหน้าที่สำคัญดังนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน (ขณะนั้นประเทศไทยมี 76 จังหวัด) รวมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ จำนวน 23 คน เป็น 99 คน มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ กำหนดให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลา 240 วัน นับแต่วันที่มีสมาชิกครบจำนวน ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนในการทำหน้าที่เป็นสำคัญ และให้สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดพื้นฐานอันนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป รัฐสภาดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดละ 1 คน (จากประชาชนที่สนใจสมัครและคัดเลือกกันเองแล้วจนเหลือเป็นผู้แทนจังหวัดละ 10 คน) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่หนึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้งฉบับ ผ่านการลงมติให้ความเห็นชอบ และส่งมอบให้ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 จากนั้นมีการประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540
3.2.3.4 การจัดทำรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
การจัดทำรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 4 จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 จากเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแทนฉบับเดิม โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยมีจำนวนสมาชิกที่มาจากการสรรหาจากทุกภาคส่วน จำนวนทั้งสิ้น 1,982 คน จากนั้นให้ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน แล้วให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน เพื่อไปเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน ทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญและต้องเสนอความเห็นพร้อมกับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการออกเสียงลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ / ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 และมีมติเลือก นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ และจัดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 โดยผลการลงประชามติปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ 14,727,306 คน (คิดเป็นร้อยละ 57.81) มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เห็นชอบ ซึ่งมีคะแนนเสียง 10,747,441 คน (คิดเป็นร้อยละ 42.19) จากนั้นจึงประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 在 จับมือ 12 พรรค พร้อมแบ่งโควตา รมต. | อนาคตประเทศไทย | 21 ส.ค. 66 的推薦與評價
ประเด็นข่าว... • จับมือ 12 พรรค พร้อมแบ่งโควตารัฐมนตรี • แก้รัฐธรรนูญจากแถลงเพื่อไทย-ภาคประชาชน • รัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ ที่ ยึดโยงประชาชนชน ... ... <看更多>
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 在 The Reporters - SPECIAL: “10 ธันวาคม 2563” 88 ปีรัฐธรรมนูญ ... 的推薦與評價
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) ครั้งแรกในวันที่ 27 ... จะเป็นได้จริงหรือไม่ ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 พ.ศ. ... <看更多>